ศธ.ประชุมสถานีแก้หนี้ครู ภาคกลาง-ตะวันออกเฉียงเหนือ เผยภาพรวมทั่วประเทศ ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3,623 ราย วงเงิน 5.6 พันล้านบาท

18 กรกฎาคม 2565, ห้องประชุมจันทรเกษม / นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา (สถานีแก้หนี้ครู) ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้บริหาร ศธ., ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ภาคดังกล่าวเข้าร่วม โดยกลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live “ศธ.360 องศา”

ลิ้งก์รับชมย้อนหลัง http://www.facebook.com/MOE360degree/videos/617833719771193

นายสุทิน แก้วพนา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน และมีการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการเยียวยาช่วยเหลือให้ทุกครัวเรือนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการคลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ประกอบกับได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยกระทรวงศึกษาธิการในฐานะคณะกรรมการ มีภารกิจรับผิดชอบส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.

ศธ. ภายใต้การนำของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. จึงได้สนองนโยบายรัฐบาล จัดทำแนวทางแก้ไขและแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน และแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับจังหวัด การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา โดยบูรณาการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับกระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครูเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้หนี้ครูอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภายใน ศธ. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินต่าง ๆ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และที่ขาดไม่ได้คือ สถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาทั้ง 558 สถานี คือ ระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง ได้แก่ สป./กศน./ก.ค.ศ./สอศ. 236 แห่ง โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่รับลงทะเบียนแก้หนี้ครูในระบบ TD- Teacher Debt ผ่านเว็บไซต์ http://td.moe.go.th รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลหนี้รายบุคคลเชื่อมโยงเครดิตบูโรด้วยโปรแกรมคำนวณเงินกู้เพื่อแบ่งกลุ่มผู้ลงทะเบียนเสนอความเห็นและแนวทางในการช่วยเหลือ

นอกจากนี้ เป็นสื่อกลางเชิญสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อนครูที่เป็นลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันทุกคน มาเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การลดดอกเบี้ย Refinance ลดค่าธรรมเนียม ปรับโครงสร้าง-ยุบยอดหนี้ ให้เพื่อนครูมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้แล้ว 41,128 คน ได้อย่างครอบคลุม และมีเพื่อนครูได้รับการปรับโครงสร้างนี้แล้ว 3,623 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.81 งบประมาณกว่า 5.6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ สถานีแก้หนี้ฯ ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการติดอาวุธความรู้ทางการเงินเสริมสร้างครูไทยวิถีใหม่ แบ่งเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม คือ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการไม่เกิน 5 ปี, กลุ่มทุกช่วงวัย อายุราชการไม่เกิน 10 ปี, กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จนถึงวัยเกษียณและหลังเกษียณ เริ่มเปิดอบรมหลักสูตรแรก “ครูรุ่นใหม่ หัวใจพอเพียง” สำหรับกลุ่มอายุราชการไม่เกิน 5 ปี ในหัวข้อ รู้อะไร ก็ไม่สู้ รู้จักตัวเอง, รู้อะไร ก็ไม่สู้ รู้จักพอ, เป็นหนี้ได้ เป็นหนี้ดี เป็นหนี้แต่พอดี, สร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนอย่างยั่งยืน และรู้ทันภัยทางการเงิน เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนาได้รับองค์ความรู้ มีความเข้าใจ มีทักษะเกี่ยวกับการออมและการวางแผนการบริหารจัดการทางการเงินจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2565 มีครูในกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพ 100,000 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 18 รุ่น จำนวน 92,238 คน

สำหรับครูรุ่นใหม่ที่สนใจ สามารถสมัครในรุ่นที่ 19 เพิ่มเติมได้ที่ KHURU Online http://www.nidtep.go.th/khuruonline

ขอย้ำอีกครั้ง เพราะมีความเป็นห่วงเพื่อนครูที่โดนฟ้อง หรือกำลังโดนฟ้องล้มละลาย หัวใจสำคัญคือ ขอให้อย่าหนี เพราะเพื่อนครูส่วนใหญ่ไม่ว่าผู้กู้หรือผู้ค้ำ พอถูกฟ้องร้องแล้วหนีหมด เจ้าหนี้เชิญไปเจรจาไม่ยอมไป กรณีที่ท่านไม่ไป จะมีค่าบังคับคดีที่ต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ตามวงเงินที่กู้และหนี้คงเหลือซึ่งต้องจ่ายแน่นอน, ดอกเบี้ยที่ค้างอยู่, ดอกเบี้ยปรับเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ซึ่งอาจจะมากกว่าดอกเบี้ยกับเงินต้นรวมกัน, ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งถ้าไกล่เกลี่ยคุยกับเจ้าหนี้ดี ๆ โดยมีสถานีแก้หนี้เป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย รายการเหล่านี้ก็สามารถผ่อนปรน งดชำระ หรือต่อรองชำระเฉพาะเงินกู้ได้ หรือบางทีตัวเงินกู้ที่เป็นเงินต้นเอง ก็สามารถลดได้” รองปลัด ศธ.กล่าว

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: