ศธ.ประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ-ใต้

7 กรกฎาคม 2565, ห้องประชุมจันทรเกษม / นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา (สถานีแก้หนี้ครู) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้บริหาร ศธ., ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ภาคดังกล่าวเข้าร่วม โดยกลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live “ศธ.360 องศา” (ลิงก์รับชม https://www.facebook.com/MOE360degree/videos/446173710385268)

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบให้เกิดประสิทธิผล จำเป็นที่จะต้องมองในภาพรวมทั้ง 3 ส่วน ทั้งในส่วนของตัวครู ส่วนของเจ้าหนี้ครู และส่วนของนายจ้างหรือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นสื่อกลางให้สองส่วนแรก โดยจะมีเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 8 เรื่อง ได้แก่

  1. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เป็นสวัสดิการที่แท้จริง
  2. สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อ Refinance หนี้สินอื่นที่อัตราดอกเบี้ยสูง
  3. ลดค่าธรรมเนียมประกัน หรือ ค้ำประกันด้วยบุคคลที่ไม่จำเป็น
  4. ปรับโครงสร้างหนี้สำหรับกลุ่มที่เงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30% หรือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
  5. ปรับโครงสร้างหนี้และยุบยอดหนี้สำหรับกลุ่มครูที่กำลังเกษียณอายุ และครูที่มีแนวโน้มจะติดหนี้ตลอดชีวิต
  6. ลดยอดหนี้จากรายได้ในอนาคต
  7. ให้สถานีแก้หนี้ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินของครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันที่กำลังถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน
  8. อบรมให้ความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้

การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภายใน ศธ. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินต่าง ๆ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และที่ขาดไม่ได้คือ สถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาทั้ง 558 สถานี คือ ระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง เช่น สป./กศน./ก.ค.ศ./สอศ. 236 แห่ง เป็นหน่วยงานกลางประสานการช่วยเหลือ เจรจาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรศึกษา ที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้ทั้ง 41,128 คน ได้อย่างครอบคลุม

“ตลอดระยะเวลาการดำเนินการที่ผ่านมา ศธ.ได้ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของสถานีแก้หนี้ครู แนวทางการแก้หนี้ครูของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบทุกจังหวัด รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่สำคัญให้เพื่อนครูได้รับทราบเป็นระยะ ขอให้เชื่อมั่นว่าแนวทางดำเนินงานเก้หนี้สินครูทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริงดังผลการดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งในเบื้องต้นทราบว่า มีผู้ลงทะเบียนที่ได้รับการปรับโครงสร้างนี้แล้ว 3,623 ราย ใช้งบประมาณกว่า 5.6 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565)” รองปลัด ศธ. กล่าว

ในการนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ผ่านระบบ Video Conference ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีเป้าหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความพร้อม มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน และเป็นการส่งคืนศักดิ์ศรีความเป็นครู ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยกันพัฒนา หล่อหลอมนักเรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของชาติ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ศธ.ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในภาพรวม พบว่าหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จึงนำมาสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน และบูรณาการความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินต่าง ๆ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยเป็นอย่างดี จนนำมาสู่ 4 มาตรการหลัก ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 558 สถานี ให้เป็นกลไกหลักระดับพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้

ขณะเดียวกัน ศธ.ได้เร่งดำเนินการในระดับนโยบาย และแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ รวมถึงการสร้างเครื่องมือทางการเงินเป็นปัจจัยเสริม เพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูดำเนินการได้รวดเร็ว ไม่ติดขัด ด้วยการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้สนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ที่ต้องการนำเงินไปแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเจรจากับสถาบันการเงินและชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ให้การสนับสนุนเบื้องต้นแล้ว เป็นเงินกว่า 33,000 ล้านบาท และธนาคารออมสินสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ปลดล็อกข้อจำกัด เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไข เช่น การเจรจากับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อให้ครูที่ลงทะเบียนแก้หนี้สามารถกู้เงินสะสมเพื่อมาลดยอดหนี้ได้, กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการของข้าราชการไม่ให้สูงเกินค่าเฉลี่ย MLR, ปรับแนวปฏิบัติการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ จ่ายสวัสดิการ ช.พ.ค. / ช.พ.ส.ของทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. และการผลักดันให้ครูสามารถเลือกสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนอกพื้นที่จังหวัดได้ นำไปสู่การแข่งขันและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมแก่ครูและสมาชิกสหกรณ์

“การดำเนินงานเหล่านี้ในบางเรื่องยังไม่ลุล่วง รวมถึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจะสำเร็จได้ทั้งหมดโดยเร็ว แต่สิ่งที่ ศธ.ดำเนินการอยู่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งยังต้องขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวาง และลงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จให้ได้ เพราะยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ยังเผชิญกับปัญหาหนี้สินจนเกิดความทุกข์แก่ตนเอง ครอบครัวหลายคนต้องสูญเสียทรัพย์สิน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก สิ่งเหล่านี้อยู่ในความคิด ความพยายามของ ศธ.และรัฐบาล ที่จะหาวิธีการเพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มที่ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น”

ช่วงท้ายการประชุมฯ รองปลัด ศธ. ได้ตอบข้อซักถามและให้ข้อแนะนำแก่เพื่อนครูที่เข้าร่วมประชุมว่า มีความเป็นห่วงเพื่อนครูที่โดนฟ้อง หรือกำลังโดนฟ้องล้มละลาย หัวใจสำคัญคือ ขอให้อย่าหนี เพราะเพื่อนครูส่วนใหญ่ไม่ว่าผู้กู้หรือผู้ค้ำ พอถูกฟ้องร้องแล้วหนีหมด เจ้าหนี้เชิญไปเจรจาไม่ยอมไป กรณีที่ท่านไม่ไปจะมีค่าบังคับคดีที่ต้องจ่าย คือ 1) เงินกู้ตามวงเงินที่กู้และหนี้คงเหลือซึ่งต้องจ่ายแน่นอน 2) ดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ 3) ดอกเบี้ยปรับซึ่งอาจจะมากกว่าดอกเบี้ยกับเงินต้นรวมกัน 4) ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งถ้าไกล่เกลี่ยคุยกับเจ้าหนี้ดี ๆ โดยมีสถานีแก้หนี้เป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย รายการเหล่านี้ก็สามารถผ่อนปรน งดชำระ หรือต่อรองชำระเฉพาะเงินกู้ได้ หรือบางทีตัวเงินกู้ที่เป็นเงินต้นเองก็สามารถลดได้

ทั้งนี้ สำหรับเพื่อนครูที่สนใจลงทะเบียนแก้หนี้เพิ่มเติม คาดว่าจะพร้อมให้ลงทะเบียนอีกรอบ โดยรอให้การดำเนินการในเฟสแรกเห็นผลเป็นรูปธรรมก่อนราว 50% สำหรับรายที่ข้อมูลตกหล่น ซึ่งหมายถึงได้ลงทะเบียนไปแล้วไม่มีข้อมูล เพื่อนครูสามารถประสานสถานีแก้หนี้ให้เพิ่มข้อมูลใหม่ได้ในระบบ http://rtd.moe.go.th

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: