ศธ.แถลงภารกิจ การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง”

“ตรีนุช เทียนทอง” จับมือ 2 รมช. “ดร.คุณหญิงกัลยา” และ”ดร.กนกวรรณ” พร้อมภาคีเครือข่าย เร่งเดินหน้านโยบายการศึกษาพิเศษ ชูผลงาน 4 ภารกิจหลัก ภายใต้แนวทาง “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง”

(27 ตุลาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงภารกิจในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ชูผลงาน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน ปักหมุดค้นหาเด็กพิการที่ตกหล่น – จัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค – ช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล – สร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษ โดยมีนโยบายการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาพิเศษภายใต้แนวคิด “การศึกษาไทย หัวใจนำทาง” ใน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน (Quick Win) ได้แก่

  1. การปักหมุดค้นหาเด็กพิการที่ตกหล่นอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ นำเข้าสู่ระบบคัดกรอง ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัดค้นหาเด็กพิการในวัยเรียนที่อายุไม่เกิน 18 ปี และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง และมีความเท่าเทียมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามที่ได้ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนกว่า 7,000 คน
  2. การจัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษและโรงเรียนเรียนรวม สามารถนำไปใช้ในการขอรับบริการ และการขอยืมสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก ให้สอดล้องกับความต้องการของนักเรียน และขณะนี้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แจ้งให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์คู่มือรายการสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้โรงเรียนจัดการเรียนรวมในจังหวัดที่ศูนย์การศึกษาพิเศษรับผิดชอบ นำไปใช้งานเพื่อประโยชน์สำหรับคนพิการ และผู้ปฏิบัติงานต่อไป
  3. สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ครอบคลุมทั่วประเทศใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภารกิจหลักคือการช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วยในระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถไปเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตามปกติ ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องลาออกจากสถานศึกษากลางคัน
  4. การสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ มีความจำเป็นต้องสื่อให้คนภายนอกเห็นว่า เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสมากมายที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้ถูกบ่มเพาะด้วยความรักและแรงบันดาลใจของครู ทำให้เด็กก้าวข้ามคำว่าพิการหรือด้อยโอกาสจนประสบความสำเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างของคนเหล่านี้ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กพิการด้วยกัน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้หรือมีความยากลำบากในชีวิตอีกด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาพิเศษถือเป็นส่วนที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น ซึ่งการขับเคลื่อนการศึกษาพิเศษให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน คือการมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนานั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ และผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ที่มีความเป็นห่วงเด็กพิเศษในเรื่องการเรียนและความเป็นอยู่อย่างมาก ติดตามและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้เด็กพิเศษทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด จากการนำนโยบายการเรียนการสอนแบบ Coding มาใช้เพื่อสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึง ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ที่ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษานอกระบบสำหรับคนพิการให้กว้างขวาง ทั่วถึง มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการจำเป็นพิเศษของผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง และการมีพื้นฐานอาชีพตามความสนใจและความถนัด

นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง จนเกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสได้อย่างเท่าเทียม สร้างโรงเรียนให้เป็นบ้าน สร้างครูให้เป็นพ่อแม่ ให้ความรักให้ความอบอุ่นที่เป็นรากฐานที่ดีงามในการพัฒนาจิตใจ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีทีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กรมอนามัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ที่มาร่วมกันพัฒนาการศึกษาพิเศษให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ และมีเป้าหมายที่สำคัญคือสร้างอนาคตให้เด็กไทยทุกคน

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้กำกับดูแลใน 3 หน่วยงาน คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) นั้น ในด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
    – ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเฉพาะความพิการทุกภูมิภาค และทุกประเภท เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขพัฒนาโรงเรียนในการจัดการศึกษา
    – สนับสนุนอัตราครู ในตำแหน่งพนักงานราชการ จำนวน 38 อัตรา ในขณะนี้ได้สรรหาไปแล้ว จำนวน 31 อัตรา ใน 11 โรงเรียน
    – พัฒนาครูการศึกษาพิเศษ ตามหลักสูตรที่ ศธ.กำหนด และสามารถขอรับค่าตอบแทนเป็นเงินเพิ่มพิเศษในอัตราคนละ 2,500 บาท ต่อเดือน จำนวน 65 คน และจะดำเนินการขยายผลต่อไป
    – พัฒนาครูในโรงเรียนเฉพาะความพิการ ในสังกัด สช.ทุกโรงเรียน (20 โรง) และจะดำเนินการในโรงเรียนที่จัดการเรียนร่วมต่อไป
    – ขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายบุคคล ให้แก่นักเรียนพิการ ตามความจำเป็นที่เหมาะสม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
    – อุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้กับนักเรียนพิการ คนละ 2,000 บาท ต่อปี
  2. สำนักงาน กศน.
    – จัดการศึกษา ให้กับผู้พิการทั้ง 9 ประเภท ทั่วประเทศ ขณะนี้มีนักศึกษา 7,544 คน ครูสอน คนพิการ 516 คน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย
    – จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ กับภาคีเครือข่าย อีก 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563
    – จัดทำโครงการความร่วมมือ พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบ สำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ระหว่างสำนักงาน กศน. กับสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกซึ่ม (ไทย) ขณะนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการจัดทำหลักสูตร การพัฒนาครูและผู้ปกครอง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติก ในจังหวัดนำร่อง 11 จังหวัด 15 ศูนย์การเรียนรู้
    – จัดอบรมพัฒนาครูผู้สอนคนพิการ เกี่ยวกับการคัดกรองคนพิการทางการศึกษา จำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 90 คน รวมทั้งสิ้น 270 คน
    – จัดทำกรอบอัตรากำลังครูผู้สอนคนพิการ และได้จัดสรรอัตราพนักงานราชการสำหรับครูสอน คนพิการเพิ่มอีก 51 อัตรา โดยจะมีการสอบประเมินสมรรถนะ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564
    – ในปีงบประมาณ 2565 ได้ประสานความร่วมมือระหว่าง กศน. และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. เพื่อสำรวจคนพิการที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ในเบื้องต้นกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จดทะเบียนคนพิการ และยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวน 5 หมื่นกว่าคน จะได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้สำนักงาน กศน.จังหวัด ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจ ค้นหา คัดกรอง จัดทำฐานข้อมูล และดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้พิการในจังหวัดนำร่อง 18 จังหวัด ตามเขตตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับงานแถลงภารกิจครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูง ศธ. เข้าร่วม เช่น นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. และนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กอศ.

ปารัชย์ ไชยเวช/สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: