(10 กันยายน 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าว “ก้าวสู่ปีที่ 3 ชูแนวทาง เติม ต่อยอด ยั่งยืน พร้อมเร่งเดินหน้าและต่อยอด 7 นโยบายสำคัญเร่งด่วน (Quick Win 7+)” โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดี รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารทุกองค์กรหลัก และสื่อมวลชน ร่วมงานแถลงข่าว ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงจนมีผลงานปรากฏเด่นชัดอย่างเป็นรูปประธรรม โดยเฉพาะนโยบาย Coding ที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนนโยบายเรื่องนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียน Coding มีความสำคัญต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก
รวมถึงการพลิกโฉมอาชีวะเกษตร ด้วยโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จนเกิดหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำ หรือ “ชลกร” รุ่นที่ 1 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่เปิดสอนเรื่องการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ระดับ ปวส. จนทำให้มีจำนวนนักศึกษาสมัครเข้าเรียน วษท. เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายและโครงการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาอีกมากมาย เช่น นโยบายการศึกษาพิเศษ, นโยบายการอ่าน เขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย, โครงการวิทยาศาสตร์กำลัง 10, การขับเคลื่อนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับ รวมไปถึงโครงการ Project 14 ทำให้มั่นใจว่า นักเรียนจะได้รับความรู้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าการก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของครูกัลยาภายใต้แนวทางเติม ต่อยอด ยั่งยืน จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับดูแลของตนในปีที่ 3 นับจากนี้จะยังมุ่งขับเคลื่อนนโยบายและเร่งเดินหน้ารวมถึงต่อยอดใน 7 โครงการสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ ประกอบด้วย
- โครงการ Coding For All คนไทยต้องได้เรียน Coding โดย ศธ.จะสร้าง Coding Communication ขยายผลขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและทุกช่วงวัย
- โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรชลกรรุ่นที่ 1 แล้ว เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษา 125 คน ใน วษท.นำร่อง พร้อมขยายผลสู่ชุมชน สร้างความมั่นคงทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำกินน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง
- โครงการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวสร้างสรรค์ผ่านสื่อร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย การอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์เชิงวิพากษ์ ขยายผลการใช้สื่อสู่ห้องเรียนในรูปแบบหลากหลายช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การขยายบน Facebook, YouTube, Page Website, OBEC Center เป็นต้น
- โครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์ และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลัง 10 ลดความเหลื่อมล้ำ สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้น เป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการเรียนการสอนด้านปฏิบัติ นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
- โครงการการศึกษาที่เท่าเทียม สร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสและพิการให้กลายเป็นเด็กได้โอกาส พัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ เน้นการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นในสังคมชุมชนนั้น ๆ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เกษตรกรรม (STIA)
- โครงการอาชีวะฐานวิทย์ สร้างวิชาชีพคนไทยรุ่นใหม่ ป้อนคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ตอบรับโลกดิจิทัล เป็นการพลิกโฉมการเรียนอาชีวศึกษาแนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ สร้างเด็กสายอาชีพให้กลายเป็นนวัตกร ยกระดับการเรียนในสายอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล
- โครงการยกระดับการศึกษารอบด้าน เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ปรับการประเมินผลเพื่อเป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะในศตวรรษที่ 21 และสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งได้มีการปฏิรูปทั้งตัวผู้สอนคือครู และรูปแบบการสอน
นอกจากนี้ การลงทุนกับเด็กปฐมวัย คือ หัวใจของการพัฒนาประเทศ เด็กจะต้องเริ่มนับหนึ่งอย่างมีคุณภาพโดย ศธ. และผู้ปกครอง จะต้องช่วยกันทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ในทุกโอกาสจากเรื่องใกล้ตัวก่อนโดยไม่ต้องลงทุน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน เป็นต้น จึงอยากจะเน้นว่าผู้ปกครองรวมถึงทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือสร้างคุณภาพให้เด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์
“ก้าวสู่ปีที่ 3 ในการทำงาน ยังมีความท้าทายรออยู่อีกมากมาย เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกมิติ และจะทำสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการเติม ต่อยอด และยั่งยืน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว











ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น