ผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 5/2565

บอร์ดการศึกษาเอกชน โดย รมว.ศธ. เป็นประธาน เห็นชอบระเบียบฯ กำหนดอัตราส่วน “ผู้ช่วยครู” ของโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนพิการ ผู้ช่วยครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน และเห็นชอบระเบียบฯ กำหนด “จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา” ของโรงเรียนเอกชนในระบบ ระดับก่อนประถมฯ และประถมศึกษา ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 10 คน ระดับ ปวช. ครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 5/2565 ว่าที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้

เห็นชอบระเบียบ ศธ.ว่าด้วยผู้ช่วยครูในโรงเรียนเอกชนในระบบที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนพิการ

ที่ประชุมเห็นชอบ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยผู้ช่วยครูในโรงเรียนเอกชนในระบบที่จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนพิการ พ.ศ. …. โดยกำหนดอัตราส่วนผู้ช่วยครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน (ถ้าเกิน 7 คน สามารถจ้างผู้ช่วยครูเพิ่มได้อีก 1 คน) ให้ได้รับการสมทบเงินเดือนผู้ช่วยครูตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนพิการเข้าเรียนไม่ถึง 15 คน โรงเรียนอาจมอบหมายให้บุคลากรที่มีความเหมาะสมปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูได้ ในด้านการกำกับดูแล ให้โรงเรียนแจ้ง สช.ทราบถึงสัญญาจ้างผู้ช่วยครู และบันทึกข้อมูลผ่านระบบงานทะเบียนโรงเรียนเอกชน (REGIS) ระบบบริหารจัดการบุคลากร

เห็นชอบระเบียบ กช.ว่าด้วยการกำหนดจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ

ที่ประชุมเห็นชอบ ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการกำหนดจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ในระบบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สำหรับโรงเรียนประเภทสามัญศึกษา ระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา ให้มีครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 10 คน, ประเภทอาชีวศึกษา ระดับ ปวช. ให้มีครู 1 คน ต่อนักเรียนพิการ 15 คน

เห็นชอบให้โรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา กรุงเทพฯ ได้รับการยกเว้นในการแต่งตั้งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต

ที่ประชุมเห็นชอบ การออกประกาศให้โรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา กรุงเทพฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 21 (3) ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร (รูปใหม่) เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต โดยยกเว้นคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้เป็นรายกรณีไป อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจะประกาศให้โรงเรียนใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ในเรื่องใดก็ได้”

ทั้งนี้ กช.ได้เคยเห็นชอบการยกเว้นฯ ให้แก่โรงเรียนในระบบในการแต่งตั้งผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาตามมาตรา 21 (3) คือ ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และเพื่อให้การดำเนินกิจการของโรงเรียนสามารถดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาในการสงเคราะห์นักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงเห็นควรได้รับยกเว้นในการแต่งตั้งพระครูปลัดบุรมณ์ เตชธัมโม เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร (รูปใหม่) ปฏิบัติหน้าที่ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา กรุงเทพฯ

รับทราบการควบคุมกิจการโรงเรียนเอกชนในระบบ

ที่ประชุมรับทราบ กรณีผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนละอองทิพย์ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินกิจการโรงเรียนต่อไปได้ตามปกติเนื่องจากไม่มีรายได้อื่นใดนอกจากเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนไม่สามารถจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

อีกทั้งยังนำที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคารเรียน ซึ่งเป็นส่วนของที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนไปจำนอง เมื่อถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทำให้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี จนสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอาจตกไปเป็นของบุคคลภายนอก เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินในการจัดตั้งเป็นโรงเรียนได้อีกต่อไป

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ลำพูน พิจารณาแล้วเพื่อให้การดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง หรือประโยชน์สาธารณะในเรื่องเกี่ยวกับการเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับโรงเรียน จึงได้มีคำสั่งให้โรงเรียนละอองทิพย์ อยู่ในการควบคุมของ ศธจ.ลำพูน ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

การประชุมบอร์ด กช. ครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพิเศษ, นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ผู้แทนกรมบัญชีกลาง, สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยการประชุมครั้งถัดไป (ครั้งที่ 6/2565) จะจัดประชุมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑