กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน นำร่องจังหวัดกำแพงเพชรเป็นแห่งแรก พร้อมนำความสำเร็จและข้อจำกัดงานนี้ เป็นบทเรียนสำคัญที่จะขับเคลื่อนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ครูไทยคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน ดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
4 ตุลาคม 2565, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กำแพงเพชร เขต 1 / นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” พร้อมด้วยนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ, นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์, ผู้แทนสถาบันการเงิน ตลอดจนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วม
นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และขวัญกำลังใจในการทำงานของเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ.ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้ตระหนักถึงความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ ศธ.ร่วมกับกระทรวงการคลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน สามารถดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความรู้ด้านการออมการลงทุน มีระเบียบวินัยทางการเงินที่เหมาะสมกับรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีศักยภาพสูง ยังผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนา หล่อหลอมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติและสังคมโลก
ศธ.ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน มีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันการเงินต่าง ๆ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบแบบยั่งยืน ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลดดอกเบี้ยเงินกู้, ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระ, ชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมาย, จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูช่วยไกล่เกลี่ย 558 สถานี, ปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงินที่อัตราดอกเบี้ยกู้ต่ำ, กำหนดให้หักเงิน ช.พ.ค.มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้และทักษะบริหารจัดการด้านการเงินแก่เพื่อนครูทั้งที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่และเกษียณอายุราชการ
ปัจจุบัน ยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกชะลอการดำเนินการทางกฎหมายอยู่ประมาณ 25,000 ราย รวมถึงกลุ่มที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธนาคารออมสิน จำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้งข้าราชการครูที่ลงทะเบียนผ่านระบบในรอบที่ 1 ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้
ศธ.จึงมีมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูงทั่วประเทศ โดยการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดี แก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สิทธิประโยชน์ของผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จะได้รับ เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือน, ไม่ถูกฟ้อง ไม่ถูกบังคับคดี, งดยึดทรัพย์สิน งดขายทอดตลาด และการถอนจากการเป็นผู้ค้ำประกันโดยการยอมรับชำระหนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง การปิดสัญญาชำระหนี้ เป็นต้น
“การจัดงานครั้งแรกที่จังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้ จะเป็นพื้นที่แรกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสถาบันการเงินที่ลงลึกถึงปัญหาเป็นรายบุคคล และได้รับทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีความร่วมมือในการบูรณาการเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเข้มแข็ง มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดี ความสำเร็จและข้อจำกัดของงานในครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนสำคัญที่จะขับเคลื่อนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป”

นายสุทิน แก้วพนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูฯ โดยกำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ และหนี้สินครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันครูไทยทั้งประเทศมีหนี้สินรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ประมาณ 9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.4 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 5 หมื่นล้านบาท
การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในรอบนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ศธ. ได้ขับเคลื่อนโดยยึดสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าในภาพรวม มีครูกว่า 2 หมื่นคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเฉพาะในกลุ่มของสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ทั้งในฐานะผู้กู้และผู้ค้ำประกัน
“การจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูรอบนี้ จึงต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้ครู โดยให้มีสถานีแก้หนี้จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย มีสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้เข้ามาร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เกิดข้อยุติในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 2 หมื่นคน จุดประสงค์สำคัญคือการถอดบทเรียนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งการถอดบทเรียนในครั้งนี้จะถูกนำกันไปขยายผลในการที่จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้พร้อมกันทั้งประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้”

ครูสยาม ข้าราชการบำนาญ สังกัด สพป.กำแพงเพชร เขต 1 “ผมประกอบอาชีพครูมาหลายสิบปี เป็นข้าราชการที่ทำความดี ด้วยการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าให้กับประเทศมาหลายรุ่น แต่กลับต้องมาทำผิดพลาดครั้งเดียว จากการไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับคนที่ไว้ใจ ทำให้ต้องมารับผิดชอบหนี้ที่ตนไม่ได้ก่อกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ รู้สึกว่าได้รับประโยชน์ จากการที่หน่วยงานธนาคารต่างๆ ได้ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยการปรับสภาพโครงสร้างหนี้ให้เหลือเกิน 30% จากเดิมเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือนหลังชำระหนี้เหลือเพียงหลักร้อยบาท ถึงแม้อาจจะยังไม่ดีนัก แต่ก็พอช่วยทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้”
นางมลชลีณา กิตติขจร ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร “สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชรไม่มีนโยบายกู้ยืมเงิน หรือระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอก เพราะการใช้เงินทุนจากแหล่งทุนภายนอกนั้น สหกรณ์จะไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยให้กับสมาชิกได้ ดังนั้นเงินทุนทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงมาจากการบริหารทุนภายในของตัวสหกรณ์เอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กับสมาชิกได้อย่างเหมาะสม ภายใต้หลักการบริหารงานสหกรณ์ที่ยึดถือเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก การดูแลสมาชิกให้ได้รับเงินปันผลในอัตราที่เหมาะสมและพอประมาณ รวมทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือดอกเบี้ยเงินรับฝากที่เหมาะสม มีการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กับสมาชิกสหกรณ์ ได้เข้าใจถึงบริหารสหกรณ์ ที่เน้นใช้หลักความเสมอภาคในการรับบริการและสวัสดิการต่าง ๆ นั้นจะต้องเท่าเทียมกัน
ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้นั้น สหกรณ์จะพิจารณาถึงความสามารถชำระหนี้ของสมาชิกที่ประสงค์จะกู้เงิน รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ภายหลังจากมีการกู้เงินไปแล้วด้วย โดยสหกรณ์มีนโยบายเรื่องของหลักประกันความเสี่ยงที่ครอบคลุมวงเงินกู้ เมื่อสมาชิกผู้กู้รายใดเสียชีวิต โดยคำนึงถึงว่าจะต้องไม่ทิ้งภาระไว้กับทายาทหรือผู้ค้ำประกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสมาชิกผู้กู้เงินได้เสียชีวิตลง จะมีเงินสวัสดิการเหลือมอบให้กับทายาทได้รับไป อีกทั้งสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ควบคู่ไปด้วยเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกและครอบครัวของสมาชิก ซึ่งในการที่สมาชิกสมัครมีความประสงค์จะเข้าร่วมสมาคมฯ ด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่ความสมัครใจไม่ได้เป็นการบังคับให้สมัคร แต่สมาชิกส่วนใหญ่นั้น เมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้ว ก็จะสมัครสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วย
ทั้งนี้ เพราะสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่ง จะมีคณะกรรมการบริหารอีกชุดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์รวมทั้งสิ้น 7 กองทุน เมื่อสมาชิกเสียชีวิต สมาคมจะจ่ายเงินให้กับทายาทตามที่สมาชิกระบุให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ และเมื่อทายาทมารับเงินจากสมาคม ผู้รับผลประโยชน์จะต้องนำเงินมาชำระหนี้สหกรณ์เพื่อไม่ให้มีภาระติดตัวให้กับผู้เสียชีวิตด้วย
ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ที่เป็นข้อแตกต่างจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่อื่น ซึ่งผลตอบรับและเสียงสะท้อนสมาชิกทุกคนพอใจกับสิ่งที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชรดูแลและทำให้กับสมาชิก ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ให้สมาชิก เรื่องของอัตราดอกเบี้ย สวัสดิการที่จะได้รับจากสหกรณ์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม รวมถึงการดูแลให้ความรู้ในเรื่องของวิชาการ และบริการวางแผนการเงินให้อีกด้วย



















อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ
ใส่ความเห็น