ปลัด ศธ. เดินหน้านโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครู ในการอบรมหลักสูตร “ฝ่าวิกฤตพิชิตหนี้” แนะใช้ชีวิตดัวยความเข้มแข็ง การตัดสินใจ ทุกคนเป็นหนี้ได้บนพื้นฐานความจำเป็น แต่อย่าประมาทในการบริหารการเงิน พึงระมัดระวังการค้ำประกัน
(27 สิงหาคม 2565) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบทิศทางการใช้ชีวิตแก่ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ ในการอบรมโครงการ โครงการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการเงิน หลักสูตร ฝ่าวิกฤตพิชิตหนี้ ณ ห้องประชุมพุทธรักษา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมอบหมายให้ สคบศ. ดำเนินการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากร ให้มีความรู้ด้านการวางแผนการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการเสริมรายได้ กลุ่มราชการบรรจุใหม่ถึง 5 ปี กลุ่มอายุราชการ 6-25 ปี กลุ่มช่วงระยะเวลา 10 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ และเกษียณอายุราชการ โดยจัดทำระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ (นายชูชาติ บุญยงยศ) จัดทำหลักสูตร “ฝ่าวิกฤตพิชิตหนี้” ให้กับกลุ่มเป้าซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากร ทุกช่วงอายุราชการ ทั้งกลุ่มบุคคลที่ยังไม่เป็นหนี้ กลุ่มบุคคลที่กำลังคิดจะก่อหนี้ และกลุ่มที่เป็นหนี้แล้ว แต่ใช้วิธีแต่ใช้วิธีแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ให้ได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
ในการอบรมครั้งนี้ มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ารับการอบรมกว่า 1,000 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อบรมแบบ On-Site และกลุ่มที่อบรมแบบ Online โดยเน้นบุคคลที่เป็นหนี้แล้ว และต้องการปรึกษา แลกเปลี่ยนกับวิทยากรโดยตรง มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบ การปลดหนี้ ที่ถูกต้องเป็นระบบ ข้อเท็จจริงของการทวงหนี้โหด วิธีการชำระหนี้ การใช้รายได้ของตัวเองในการชำระหนี้ โดยไม่ไปก่อหนี้เพิ่ม เพื่อมาชำระหนี้ การจัดระบบการเงิน บริหารจัดการบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำตารางหนี้ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การลดรายจ่าย การออมเงินที่ถูกต้อง และการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหลังจากปลดหนี้
ปลัด ศธ. ได้เล่าประสบการณ์ ให้ทิศทางใช้ชีวิตด้านการเงิน และฝากข้อคิดว่า “อย่าทำตัวเป็นหน้าใหญ่ อย่าก่อหนี้เพราะความเกรงใจ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นต้องไม่ทำให้เราเดือดร้อน การรักษาหน้าบนความเดือดร้อนของตนเองนั้นเป็นความผิดพลาด เราสามารถสร้างหนี้ได้บนพื้นฐานของความจำเป็น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาวะทางครอบครัว เนื่องจากทุกคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือ ความเข้มแข็งและการตัดสินใจ พึงระมัดระวังการค้ำประกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้บนความไม่ประมาทในบริหารด้านการเงิน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”











สุกัญญา จันทรสมโภชน์ /ข่าว
สุดใจ สาวทรัพย์ /ภาพ
ใส่ความเห็น