ผลการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 6/2565

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้

เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ คัดเลือก รองฯ และผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ.

สืบเนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว 8/2562) ข้อ 6.1 ซึ่งกำหนดให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี กำหนดวันและเวลาในการคัดเลือก ฯ นั้น เห็นว่าเพื่อให้การบริหารจัดการการดำเนินการคัดเลือกของ กศจ. ทุกแห่ง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม มีประสบการณ์และศักยภาพในการบริหารการศึกษา

ที่ประชุมจึงมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • หลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ ใช้สำหรับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา เฉพาะสังกัด สพฐ. และให้ สพฐ. เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณในการดำเนินการสอบแข่งขัน
  • ให้ สพฐ. กำหนดวัน และเวลาในการดำเนินการคัดเลือกทั้ง ใน สพป. สพม. และ สศศ. (เดิม กศจ. กำหนด)
  • กรณีที่ สพป. สพม. และ สศศ. กำหนดวันและเวลาในการรับสมัครพร้อมกัน ให้ผู้สมัครเลือกสมัครแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น
  • กำหนดเงื่อนไขในการบรรจุและแต่งตั้งฯ ว่า ในวันบรรจุและแต่งตั้งจะต้องไม่ติดเงื่อนไข การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งเงื่อนไขอื่นใดที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมในหลักสูตรการคัดเลือกด้วย สำหรับ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ว 8/2562 ที่ ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบไปแล้ว ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. นั้น ที่ ศธ.0206.6/115 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 นั้น มอบ สพฐ. พิจารณา หากไม่มีประเด็นใดใน (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการ ฯ กระทบกับรายละเอียดดังกล่าว เห็นชอบให้ใช้รายละเอียดสำหรับการดำเนินการคัดเลือกฯ ในครั้งนี้ได้ แล้วให้ สพฐ. รายงานให้ ก.ค.ศ. ทราบ

“จากนี้ไป สพฐ.จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยมี ก.ค.ศ.เป็นเหมือนที่ปรึกษา รวมถึงมาตรฐานของข้อสอบ ซึ่งเดิมที ก.ศ.จ.แต่ละพื้นที่จะเป็นผู้จัดทำ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการสร้างมาตรฐานข้อสอบทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวกัน เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษา เกณฑ์ใหม่นี้จะใช้กับการคัดเลือกรอง ผอ. และ ผอ.โรงเรียน สพฐ. ที่มีการสมัครกันอยู่ในขณะนี้ด้วย ส่วนการคัดเลือกตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดอื่น ๆ ยังคงใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิม” รมว.ศธ. กล่าว

เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนระดับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปและตำแหน่งประเภทวิชาการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป และตำแหน่งวิชาการ ในระดับที่สูงกว่าเดิม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนด้านสนับสนุนทางวิชาการ เช่น ธุรการ การเงิน พัสดุ ซึ่งปัจจุบันได้นำหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาใช้ ส่งผลให้การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งล่าช้า ไม่มีความสะดวกในการบริหารจัดการ

โดยเกณฑ์ใหม่ให้ กศจ.ต้นสังกัด สามารถประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัด วิธีการ และเกณฑ์การตัดสินได้ ตามระเบียบที่ ก.ค.ศ.กำหนด

“ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบาย และหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ในการดูแลบุคลากรในสังกัด รวมถึงความตั้งใจที่จะแก้ไข ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว เป็นการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้แต่ละส่วนงานมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น”

เห็นชอบ การกำหนดมาตรการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารงานบุคคล จากการตรวจสอบคำสั่งการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 (13) กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ไว้อย่างชัดเจนว่า มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากหน่วยงานการศึกษามาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และมาตรา 20 กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.ค.ศ. และ (7) กำกับ ติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงาน
ตามพระราชบัญญัตินี้ ของหน่วยงานการศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา

ดังนั้น เพื่อให้มีมาตรการในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลที่เป็นรูปธรรม ก.ค.ศ. จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารงานบุคคล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • กำหนดให้การส่งคำสั่งการบริหารงานบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  • กำหนดระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำสั่งฯ จำนวน 2 ครั้ง
    ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 30 วัน หากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ให้แจ้งมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือจากสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อแจ้งเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือขอขยายเวลาและกำหนดวันที่จะส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.ค.ศ.
    – ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 30 วัน หากพ้นกำหนด ส่วนราชการ/หน่วยงานการศึกษายังไม่ดำเนินการ ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. รายงานหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำระบบการรายงานการส่งคำสั่งและเอกสารที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการ/หน่วยงานการศึกษา ไว้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. otepc.go.th เพื่อให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งทราบและดำเนินการ

กลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ สำนักงาน ก.ค.ศ. : สรุป
ภาพ/่ข่าวเพิ่มเติม
https://otepc.go.th/th/content_page/item/3954-6-2565.html

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑