ศธ.จัดงาน Kick Off “สูงวัย ใจสมาร์ท” กศน.ปลุกแรงใจให้วัยเก๋า โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แนะผู้สูงวัยทำกิจกรรมที่สร้างมูลค่า ดูแลตัวเองในวัยเกษียณ “ตรีนุช” ชูกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตผู้สูงวัย 4 มิติ “สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี-สังคม” เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพ ช่วยเหลือตนเองได้
1 กรกฎาคม 2565, หอประชุมคุรุสภา / กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงาน Kick Off “สูงวัย ใจสมาร์ท” กศน.ปลุกแรงใจให้วัยเก๋า โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมีการเปิดงานในแต่ละ กศน.จังหวัดทั่วประเทศ ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้สูงวัย และเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กศน.กรุงทพมหานคร เข้าร่วมงาน
รมว.ศธ. กล่าวรายงานว่า ประเทศไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากประชากรตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 มีจำนวนประมาณ 12,241,542 คน เป็นสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเข้าตามหลักเกณฑ์การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายมิติ เช่น ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ งบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ภาวะจิตใจของผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว เป็นต้น
โดยภายในปี 2582 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นถึง 28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการเตรียมพร้อมรองรับการปรับตัวของผู้สูงอายุ เพื่อพร้อมก้าวไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ได้แก่ สุขภาพดีทั้งกายและใจ มีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต มีส่วนร่วมและมีคุณค่าทางสังคม ผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลเน้นพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย ตามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 7 กระทรวง : การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) พ.ศ. 2565-2569
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. จึงมุ่งเน้นจัดการศึกษาตลอดชีวิตในลักษณะของการเชื่อมโยง หนุนเสริม และต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้สูงอายุ ด้วยการออกแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในมิติของ กศน. ตามโครงการจัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ผ่านการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับผู้สูงอายุ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี และมิติสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพและช่วยเหลือตนเองได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงอายุในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการ สุขภาพ ความรู้ ที่อยู่อาศัย และวางรากฐานที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขในสังคม รวมทั้งต้องพัฒนาสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุซึ่งยังคงเป็นกำลังหลักของชาติอยู่เสมอ เนื่องจากมีองค์ความรู้ มีประสบการณ์มากมายสะสมมายาวนาน สามารถเป็นส่วนเติมเต็มช่วงวัยอื่น ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนประเทศชาติของเราให้ยั่งยืนต่อไป
ศธ.เป็นกระทรวงหลักที่มีบทบาทสำคัญในการสนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องมองมิติทางด้านเศรษฐกิจด้วยว่า วันข้างหน้าประเทศไทยจะอยู่ในจุดไหนของเศรษฐกิจโลก เพื่อจะมีรายได้ที่เพียงพอมาดูแลคนทุกช่วงวัยให้ได้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุให้ความสนใจทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ว่าวันนี้เรามาเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องหาคนที่จะเข้ามาช่วย เช่น เครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปราชญ์ชาวบ้าน มาเป็นครูหรือเป็นผู้ช่วยในการทำงาน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ทำบ้านเมืองให้น่าอยู่และทำให้มีรายได้ไปด้วย
การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงวัย จะทำให้แข็งแรง สุขภาพดี สภาพจิตใจดี บางกิจกรรมก็มีรายได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องไปสืบค้นดูว่าจังหวัดของเรามีอะไรดีอยู่ แล้วจะเอาอะไรเข้ามา เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้ได้ เช่น เรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ ซึ่งหากทำได้โดยคนสูงวัยอีกกลุ่ม ก็จะเพิ่มรายได้ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยช่วงแรกอาจจะไม่มากนัก แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ จนเป็นที่นิยม ก็สามารถพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชนทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง การขนส่ง รวมไปถึงการขายออนไลน์ด้วย เป็นการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งทั้งร่างกาย จิตใจ ส่งเสริมการดูแลตัวเองให้ได้ในวัยเกษียณ มีความพร้อมที่จะอยู่ในอนาคตโดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน











ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กศน. / ภาพ
ใส่ความเห็น