นายกรัฐมนตรีกำชับเด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ ศธ.ร่วมผนึกกำลัง 11 หน่วยงาน พาน้องกลับมาเรียน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง” นำ ศธ. ผนึกกำลัง 11 หน่วยงานหลัก ครั้งประวัติศาสตร์ ลงพื้นที่ทั่วประเทศ พาเด็กตกหล่นกลับโรงเรียน ผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ตามนโยบายรัฐบาล “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก พุ่งเป้าแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นายกฯ ตั้งเป้าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็น 0

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคนและความรู้ให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงมีความยินดีที่ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนของไทย โดยพยายามทำให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงเด็กที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้ารับการศึกษาเลย ทั้งเด็กปกติและเด็กผู้พิการ เพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีมาตรฐานอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากขณะนี้มีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่าแสนคน รัฐบาลและทุกหน่วยงานต้องช่วยกันทุกวิถีทางที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ ก่อนอื่นต้องทำให้เขาเข้าใจว่าจะศึกษาไปทำไม เพราะหลายคนที่ออกจากระบบการศึกษาไม่ใช่เฉพาะปัญหา Covid-19 แต่อาจมีเหตุผลความจำเป็นของที่บ้าน เกี่ยวกับผู้ปกครอง เพื่อน หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริบทโดยรวมที่เราต้องหาข้อมูลเหล่านี้ แล้วทำการแก้ปัญหาไปทีละจุด โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์

สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ ขอให้ดูแลครอบครัวผู้ปกครองของเด็กด้วยว่ามีความพร้อมหรือไม่ เมื่อนำเด็กกลับเข้ามาในระบบตอนนี้แล้วต่อไปจะหลุดออกไปอีกหรือเปล่า ซึ่งจุดนี้จะเป็นสิ่งยืนยันว่าภารกิจที่เราทำจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากผู้ปกครองบางคนถึงแม้ได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะขาดแรงงานในบ้านที่จะหางานทำช่วยพ่อแม่

ดังนั้น จึงฝากเป็นข้อสังเกตด้วยว่า หากกลับเข้าระบบมาแล้ว ต่อมายังหลุดออกไปอีกในกรณีซ้ำคนเดิม แสดงว่าอาจมีปัญหาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เห็นเบื้องต้น

ย้ำนำเด็กกลับเข้าระบบ :
สร้างโอกาส และให้ได้เรียนใน รร.คุณภาพที่ดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะลงทุนสร้างทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในทางตรง แต่การใช้เงินอย่างเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด และไม่มีเงินเพียงพอ จึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสม โดยร่วมกันคิดในฐานะที่เป็นผู้นำทางการศึกษา ขอให้แต่ละหน่วยงานใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมภารกิจที่มีความสำคัญกับประเทศชาติ ในวันนี้ทุกหน่วยงานได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว ถือเป็นของขวัญสำคัญที่รัฐบาลทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ

พร้อมย้ำว่า การให้โอกาสทางการศึกษากับคนไทยนั้นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เราจะต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง หาวิธีการที่เหมาะสม เนื่องจากการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษานั้น หากนำเข้าสถานที่เดิมหรือโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ต้องพิจารณาอีกด้วยว่าการจะใช้เงินกองทุนใดก็ตามเพื่อสนับสนุนผู้เรียน ต้องให้ได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งนโยบายของการกระทรวงศึกษาธิการ คือ การสร้างโรงเรียนดีมีคุณภาพ เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ผลประโยชน์ย่อมเกิดกับคนในชาติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมิติผู้เรียนนั้น ต้องสอนนักเรียนให้รู้จักมีความคิดที่ดี มีหลายเรื่องต้องเรียนรู้ทั้งจากในห้องเรียน จากนอกห้องเรียน จากโลกออนไลน์ โดยเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดประโยชน์แล้วนำมาคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อเขาจะได้เตรียมตัวไปสู่อนาคต ซึ่งการสร้างโอกาสในการศึกษาต้องเน้นทั้งโอกาส และคุณภาพของการศึกษาที่นักเรียนควรจะได้รับ โดยมีเป้าหมายว่าเรียนไปเพื่ออะไร สร้างความคิดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา จะทำให้เกิดการพัฒนาตัวเอง พัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชน เมื่อเขาโตขึ้นจะมีชีวิตอยู่ได้ มีงานทำและไม่เป็นภาระของครอบครัวในอนาคตต่อไป

ศธ.จับมือ 11 หน่วยงาน
เปิดตัวแอปฯ ตามน้องกลับมาเรียน เข้าถึงเด็กหลุดจากระบบทั่วประเทศ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ. เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบัน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัด สพฐ. จำนวน 78,003 คน สังกัด สป. จำนวน 50,592 คน สังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 ราย

“ศธ.มีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อ “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด และจะได้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดกับทุกกรณีกันต่อไป โดยเบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้น ศธ.จะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ให้ช่วยติดตาม เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง”

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: