(20 สิงหาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม หลักสูตรที่ 4 “แง่มุมประวัติศาสตร์ สู่การก้าวเดินไปในอนาคต” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นวิทยากร ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. มีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้มีประสบการณ์อย่างสูงในด้านการศึกษา จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมอบรมทั่วประเทศ จะได้นำองค์ความรู้ มุมมอง ทัศนคติ และประสบการณ์จากวิทยากร มาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน สร้างคุณค่าใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนารากฐานการศึกษาในปัจจุบัน ต่อยอดถึงอนาคตสืบไป
ปลัด ศธ. กล่าวว่า โครงการ “ตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม” มีเป้าหมายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้กับท่านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าสู่การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญคือความรู้ที่ได้จากวิทยากรที่เป็นวิทยากรระดับชาติในหลาย ๆ ท่าน จะทำให้เกิดมุมมอง ประสบการณ์ในการทำงาน และเกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ในการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดไว้ทั้งหมด 10 หลักสูตร ขณะนี้เป็นหลักสูตรที่ 4 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 60,000 คน ต่อหลักสูตร โดยวิทยากรผู้มากความรู้และประสบการณ์
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ?” ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาหลายประการที่ทำให้ประเทศยังดำเนินการพัฒนาได้ดีไม่เท่าที่ควรจะเป็น หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาประวัติศาสตร์ในสังคมไทย อันได้แก่
- การขาดจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ การให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในการพิจารณาทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประวัติศาสตร์จะบอกให้รู้ว่าทำไมเราจึงมาอยู่ตรงนี้ และทิศทางที่จะนำไปเบื้องหน้า ของคนไทยในปัจจุบัน
- ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในบทบาทของประวัติศาสตร์ การบอกให้ทราบว่าอะไรได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต เพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างไร เหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์แก้ไขอะไรไม่ได้ จึงมีไว้เพื่อการศึกษา มิใช่เพื่อสะสมความรู้สึกชื่นชอบหรือเกลียดชังเหตุการณ์
- การไม่สามารถแยกแยะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มีหลากหลาย ทั้งที่เชื่อถือได้และที่เชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักแยกแยะด้วยการพิจารณาหลักฐานและตรรกะ มิใช่เชื่อไปหมดหรือเชื่อทันทีเพราะมีผู้บอกเล่า ความเชื่อถือข้อมูลทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องใช้สติปัญญา
ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ผ่านวิชาประวัติศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น อาจจะใช้ “วิชาประวัติศาสตร์ (โลก/ไทย/ท้องถิ่นไทย)” มาเป็นวิชาบังคับ (must know) มากกว่าเป็นวิชาเลือกเสรี (choose know) รวมถึงจัดอบรมในทุกองค์กร เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้คิด ไตร่ตรอง เข้าใจ และหวงแหนประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ใช่ท่องจำเพียงนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ทั้งนี้ ในรั้วโรงเรียนต้องปลอดภัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง












สำหรับตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษมครั้งต่อไป ได้แก่ หลักสูตรที่ 5 “EF เด็กปฐมวัย ทางรอดของการศึกษาไทย” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ในวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00-16.30 น.
อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ
ท่าน รมต ครับ ผมอยากเห็นการปฏิรูปพื้นฐานการเติบโตของเด็กไทยใหม่หมด. เริ่มตั้งแต่เด็กอนุบาล วางแม่แบบให้ดี ให้ปฎิบัติไปในทางเดียวกัน เด็กเล็กถูกฝึกฝนอบรมมาอย่างถูกวิธี ถูกต้อง เขาเติบโตขึ้นจะง่ายต่อการเรียนรู้ในทุกๆเรื่อง เรื่องอาหารกลางวัน นม ผลไม้ ฟรีต้องจัดให้ทั่วถึง มีไหว้พระสวดมนต์ทุกชั้นเรียน วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละภาค เด็กๆต้องรู้ และวิชาประวัติศาสตร์ วิชาเหล่านี้ขาดไม่ได้ โตขึ้นมาอีกหน่อย วิชาพละ เด็กๆต้องรู้จักฝึกหัดศิลปะมวยไทย สร้างเด็กในสาขาวิชาที่ช่วยสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ เน้น Mathematic, Science, Engineering, Technology and English อย่าลืมนะครับ ปูรากฐานเหล่านี้ตั้งแต่เด็กอนุบาล.
ถูกใจถูกใจ