กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง ในการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อใช้วางแผนการดำเนินงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ได้อย่างทันสถานการณ์ และให้การช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่
(24 มิถุนายน 2564) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีส่งมอบข้อมูลสารสนเทศเข้าสู่ระบบ MOE COVID และเปิดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) อย่างเป็นทางการ โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ., นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช., นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน., นายศรีชัย พรประชาธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ., นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ., รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญและตระหนักยิ่งถึงความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้ประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เพื่อให้สามารถเตรียมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดแก่นักเรียนนักศึกษา ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยสถานศึกษาสามารถเลือกใช้รูปแบบการจัดการเรียนสอนแบบผสมผสาน ทั้ง ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND, ON-HAND และ ON-SITE ตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรเด็กทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ อีกทั้งการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญการ์ดต้องไม่ตกในทุกพื้นที่ โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด
เพื่อให้บรรลุผลตามที่กล่าวมา ศธ.จึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการในการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อใช้วางแผนการดำเนินงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ได้อย่างทันสถานการณ์ และให้การช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่
“ศบค.ศธ. คาดหวังผลการดำเนินงานของศูนย์ จะมีส่วนสำคัญต่อการประสานงานข้อมูลและรายงานสถานการณ์โควิด 19 ในกระทรวงศึกษาธิการแบบรายวัน พร้อมประสานงานให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับดับต้นจนครบทั่วประเทศ รวมถึงประสานงานให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ในกรณีมีอาการแพ้วัคซีนเกิดขึ้น และจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ที่สำคัญจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน นำไปสู่มาตรการการป้องกันและระงับ ยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชน ได้อย่างทันท่วงที”

ปลัด ศธ. ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ศบค.ศธ. กล่าวว่า ศธ. ได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ซึ่งได้ดำเนินงานปฏิบัติการมาแล้วกว่าหนึ่งเดือน ณ ห้องประชุมกองทุนพัฒนา เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อาคารกรมการฝึกหัดครู (เดิม) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคณะที่ปรึกษา
มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ประจำวัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ในการวางแผนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมให้ความช่วยเหลือหน่วยงาน ข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษา ในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด อีกทั้งประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก รวมถึงจัดทำข้อมูลและเข้าร่วมชี้แจงต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การดำเนินงานของที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดทำระบบรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของกระทรวงศึกษาธิการ MOE COVID โดยให้หน่วยงานในสังกัดรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานศึกษาใน สังกัดเป็นประจำทุกวัน โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อมูลการฉีดวัคซีน และข้อมูลการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรของ ศธ. เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดเรียน ซึ่งในขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 233,858 ราย (ครู 186,385 ราย, บุคลากร 47,473 ราย : ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564)

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. และโฆษก ศธ. ในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร ศบค.ศธ. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่ครูและนักเรียนต้องตระหนักในตอนนี้คือการประเมินตนเองผ่าน ไทยประเมินเซฟไทย ครัวเรือนปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงให้ไปพบแพทย์และไม่ต้องมาสถานศึกษา โดยเฉพาะ 6 มาตรการหลักต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ได้แก่
- คัดกรอง : มีมาตรการคัดกรอง วัดไข้และอาการเสี่ยง ก่อนเข้าสถานศึกษา
- สวมหน้ากากอนามัย : สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาเมื่ออยู่สถานศึกษา
- ล้างมือให้สะอาด : ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล อย่างเพียงพอ
- Social Distancing : จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร
- ทำความสม่ำเสมอ : ทำความสะอาด พื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย
- ลดความแออัด : ไม่จัดกิจกรรม ท่ีมีการสัมผัสร่วมกัน ในกรณีเรียนในห้องแอร์ ให้ปิดแอร์ และระบายอากาศ ทุก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งสิ้น 2,883 คน แบ่งเป็นนักเรียน 2,214 ราย, ครู 520 ราย, บุคลากร 149 ราย โดยอยู่ระหว่างการรักษาตัว 879 ราย ทั้งนี้หลังจากเปิดภาคเรียนไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จนถึง 21 มิถุนายน 2564 ศธ.พบผู้ติดเชื้อรวมเพียง 636 คน ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเกิน 80 ราย อยู่ที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ และชลบุรี

ภายหลังงานแถลงข่าว รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีปลัด ศธ. นำเยี่ยมชม

อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู / ภาพ
อธิชนม์ สลางสิงห์ / วีดิทัศน์
ใส่ความเห็น