ปลัด ศธ.นำเสนอนโยบายและการดำเนินการด้านการศึกษาดิจิทัล ณ ยูเนสโก สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ปลัด ศธ. “สุเทพ แก่งสันเทียะ” นำเสนอนโยบายและการดำเนินการด้านการศึกษาดิจิทัล ณ องค์การยูเนสโก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ย้ำต่อที่ประชุมถึงนโยบายสำคัญของ ศธ. ในการส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล และยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา คือ 1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2) สร้างโอกาส ความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางการศึกษา 3) ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล 4) พัฒนากำลังคน 5) พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา

17 เมษายน 2567 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ เข้าร่วมการนำเสนอนโยบายการบูรณาการด้านการเชื่อมต่อ เนื้อหาการเรียนรู้ และสมรรถนะด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของประเทศไทย ในการประชุมโครงการ UNESCO-Huawei Funds-in-Trust on Technology-enabled Open Schools for All

ในการนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะทางดิจิทัลอย่างจริงจัง โดยมียุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติสนับสนุนให้นักเรียนได้เข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาครูให้มีความสามารถและทักษะด้านดิจิทัล

นอกจากนี้ พลเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล เช่น “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” “1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต” “1 ครู 1 แท็บเล็ต” และ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”

ในด้านแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ได้แก่ (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง (2) สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา (3) ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล (4) การพัฒนากำลังคน และ (5) พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา

ในการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย และกานา เข้าร่วมนำเสนอเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 เกี่ยวกับประเด็นในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะครู การพัฒนาแพล็ตฟอร์มและเนื้อหา และแบบเรียนดิจิทัล และมีผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการฯ ระยะที่ 2 ได้แก่ ไทย และบราซิล เข้าร่วมนำเสนอเกี่ยวกับภาพรวมของการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาดิจิทัล นอกจากนี้ มีผู้แทนมหาวิทยาลัย Turku ประเทศฟินแลนด์ สภายุโรป และสำนักงานยูเนสโก เข้าร่วมนำเสนอมุมมองด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดระบบการเรียนรู้ด้วย AI การประเมินความพร้อมของ AI การออกกฎหมายด้าน AI ในการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มีคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. นางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก และนางสาวหงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑