รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” ผลักดัน “Soft Power” ด้านการศึกษาเรียนอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาขยายผลสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

รมว.ศึกษาธิการ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการ คัด 5 สาขาที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา “นวัตกรรมการจัดการ ศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น อาหาร ดิจิทัลและสื่อสร้างสรรค์” มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแลชัดเจน เพื่อนำองค์ความรู้ขยายผลสู่ชุมชนให้มีรายได้ กลายเป็น “Soft Power ยั่งยืน”

18 ธันวาคม 2566 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2566 โดยนายสิริพงศ์​ อังคสกุล​เกียรติ​ ผู้​ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร แฟชั่น และดิจิทัลสื่อสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เป็นอย่างมาก โดยให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดัน Soft Power ประเภทต่างๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนในทุกมิติให้สอดรับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของรัฐบาล โดยจะเน้นในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องด้านการศึกษาโดยตรง 5 สาขา คือ สาขานวัตกรรมการจัดการ สาขาศิลปวัฒนธรรม สาขาแฟชั่น สาขาอาหาร และสาขาดิจิทัลและสื่อสร้างสรรค์ โดยแต่ละสาขาจะมีหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดรับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยจะคัดเลือกสิ่งที่โดดเด่น มีองค์ความรู้เข้มข้น ออกมานำเสนอ ขยายผลสู่ชุมชนให้มีรายได้จนกลายเป็น “Soft Power ยั่งยืน” ที่สำคัญจะต้องเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนนำไปสู่การยกระดับให้เป็นระดับประเทศ หรือนานาชาติต่อไป

“อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันระดมความคิดเห็นและร่วมกันวางแนวทางการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูง จัดหมวดหมู่ของซอฟต์พาวเวอร์แต่ละสาขาให้ชัดเจน เพราะแต่ละสถานศึกษามีความโดดเด่นอยู่แล้วในแต่ละด้าน เน้นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถ มีช่องทางในการศึกษาต่อ หรือเข้าทำงานตามความถนัด ทั้งนี้ ศธ.จะได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ในระยะเวลา 100 วัน แบ่งเป็นรอบ 6 เดือน และ 1 ปี พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานในช่วง 100 วัน เพื่อรายงานรัฐบาลตามที่กำหนดในแผนงาน Quick Win ระยะแรก 100 วัน ภายในวันที่ 11 มกราคม 2567 ต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระแสของซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้น อาจจะหายไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่กับเด็กตลอดไปคือ ทักษะ (Skill) ดังนั้นหน้าที่หลักของ ศธ. คือผลิตทรัพยากรมนุษย์ ควรสร้างรากฐานให้เด็กทุกคนได้รู้จักซอฟต์พาวเวอร์จากหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อนำไปต่อยอด สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ คือ การแก้ปัญหาการศึกษาไทยทั้งระบบ เฟ้นหาคนที่เรียนแล้วใช้ชีวิตเป็น เพราะเราเป็นหน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรการศึกษา “สร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ” อาจชูด้านของแพทย์แผนไทย หรือคีตมวยไทย ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือเสริมเรื่องกีฬาพื้นบ้านเข้าไปในโรงเรียน โดยผ่านการเล่าเรื่องราวออกมาให้สื่อสารเข้าใจง่าย ต่อยอด และประชาสัมพันธ์สิ่งที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑