รมว.ศธ. ‘เพิ่มพูน’ มอบนโยบายเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมอาชีวะ มั่นใจสถานศึกษาปลอดภัยทุกมิติ

1 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบ Conference

รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนของอาชีวะ ซึ่ง สอศ.ได้ติดตามเรื่องการรับสมัครผู้เรียนสายอาชีพในสถาบันอาชีวศึกษามาโดยตลอด โดยขณะนี้มียอดผู้สมัครจำนวน 100,000 กว่าราย และจะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากข้อมูลการรายงานได้ทราบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญกับการเรียนสายสามัญมากขึ้น ส่วนการตัดสินใจของผู้เรียนนั้นมีหลายปัจจัยที่จะเลือกเรียนสายที่ตนเองถนัด ซึ่งบางคนอาจจะสนใจทางสายสามัญมากกว่า หรือบางคนอาจไม่พร้อมเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ออกไปเรียนหรือทำงานต่อที่ต่างประเทศ จนต้องออกกลางคันระหว่างเรียน หลังจากมอบแนวทางติดตามผู้เรียนให้กลับมาเรียนแล้ว จากนี้จึงต้องดูแลแก้ไขทุกมิติให้มีคุณภาพ

ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย สอศ.ได้วางแผนป้องกันและกำชับเรื่องบริหารจัดการกับทุกสถานศึกษาในสังกัดเรียบร้อยแล้ว เช่น เรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า การทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ซึ่งได้มีการเฝ้าระวังในรูปแบบเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับตำรวจนครบาลหารือในประเด็นที่เห็นว่าสามารถร่วมกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และคาดว่าจะมีการทำ MOU ระหว่าง สอศ. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรการป้องกันให้เข้มข้นมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน

ส่วนการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถาบันอาชีวศึกษา จะเน้นถึงการสื่อสารให้เข้าใจถึงพิษภัยยาเสพติด รวมไปถึงขอความร่วมมือจากชุมชนเข้มแข็ง เพื่อนอาชีวะ ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาในการป้องกัน ไม่ให้มีการจำหน่ายและเสพทั้งในและนอกสถานศึกษา และพยายามให้กำลังใจกันให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายที่ตามมา

“ตอนนี้สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำและประชาสัมพันธ์คือเรื่องการป้องกันการทะเลาะวิวาท เรื่องปัญหายาเสพติด และเรื่องสุขาดี มีความสุข ตามการบริหารจัดการ 4 มิติ ทั้งการบริหารจัดการศึกษา สถานศึกษา ครูและบุคลากร และ นักเรียนและนักศึกษา ที่ต้องร่วมกันทำให้มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานเท่าเทียมกัน เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนทั่วไปว่าจบจากสถาบันอาชีวศึกษาแล้ว ผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการในตลาดแรงงานที่รับเข้าไปทำงานได้ เพราะการเรียนสายอาชีพมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑