28 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 9/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้

ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย ทิศทางพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างดี โดยขณะนี้ ศธ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการสอนและคู่มือเพื่อนำไปสอนเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา ให้ทุกโรงเรียนเปิดรายวิชาเพิ่มเติมพร้อมติดตามประเมินผล และจัดอบรมครูในการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ศธ. ยังดำเนินการจัดทำระบบข้อสอบ PISA ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 ฝึกทดลองทำข้อสอบ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนกว่าจะได้ระบบการสอบที่สมบูรณ์ และเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนผู้เข้าสอบทุกคน

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการติดตามและสังเกตการณ์จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเพื่อสมรรถนะความฉลาดรู้ตามแนวทางของ PISA โดยใช้ระบบการทดสอบออนไลน์ที่ชื่อ PISA Style Online Testing ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 กลุ่มโรงเรียน คือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ ฯ ตามแนวทาง PISA สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง กิจกรรมการเรียนรู้กระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดี และการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นสูงขึ้น

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ของ สช. เพื่อจัดทำแผนและแนวทางการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ จัดทำรายงานแผนและแนวทางขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมถึงกำกับติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางฯ ที่กำหนด

นอกจากนี้ รมว.ศธ. มอบหมายสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติดำเนินการ (สทศ.) รวบรวมข้อสอบ PISA ในปีที่ผ่านมานำมาจัดทำเป็นข้อสอบออนไลน์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน ทดลองทำข้อสอบดังกล่าว และสรุปผลการสอบเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ต่อไป

ปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระที่สำคัญคือ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลนี้ โดยมีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี เพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าให้รัฐบาลสวมใส่เพื่อประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรม เร่งรัดพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทยพระราชนิยม” เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) จึงสั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในส่วนของการเตรียมจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี รมว.ศธ. เป็นประธาน มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ รวมถึงจัดทำหนังสือที่ระลึกและพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี ด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET)

ที่ประชุมได้รับทราบ แนวทางการดำเนินงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีการสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing) รอบที่ 3 – 4 จำนวน ผู้มีสิทธิ์สอบรวมทั้งสิ้น 103,203 คน ซึ่งจะจัดสอบในวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2567 โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการจัดสอบ ในการนี้ รมว.ศธ. ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม รวมถึง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (Vocational National Educational Test: V-NET) การทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงาน (Test of English Communication in the Workplace: TEC-W) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (Islamic National Educational Test: I-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา (Buddhism National Educational Test: B-NET) ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ สทศ. ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการนำผล O-NET ไปใช้ ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ครูผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา นำผล O-NET ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นพาคิด พาทำ การวิเคราะห์ผังการสร้างข้อสอบ การวิเคราะห์ข้อสอบ การสร้างข้อสอบที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวัดผลและประเมินผลในชั้นเรียน “ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารสถานศึกษา ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการสอบ O-NET เนื่องจากในช่วงการสอบนั้น นักเรียนอาจจะมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือมีข้อจำกัดต่าง ๆ ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้นักเรียนหันมาให้ความสนใจในการสอบ O-NET มากขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว

สำหรับการสอบ O-NET+ (โอเน็ตพลัส) เป็นกระบวนการสอบรูปแบบใหม่ที่เน้นทักษะคิดวิเคราะห์ และครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และมีประโยชน์แก่ผู้เรียนได้มากที่สุด

จับคู่ครูคืนถิ่น หรือ ระบบ Teacher Matching System (TMS) และระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (Teacher Rotation System หรือ TRS)

ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย จับคู่ครูคืนถิ่น ตามที่ รมว.ศธ. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดทำระบบ Teacher Matching System (TMS) จำแนกข้อมูลในระบบ TMS ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) กลุ่มที่จับคู่ย้ายสำเร็จ 2) กลุ่มที่มีความประสงค์ขอย้าย และ 3) ฐานข้อมูลสำหรับการบริหารงานบุคคล พร้อมทั้งจัดทำขั้นตอน/แนวทางการดำเนินงานของแต่ละส่วน ซึ่งการดำเนินการพิจารณาอนุมัติย้ายสับเปลี่ยนในระบบ TMS อนุมัติรับย้ายเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 251 ราย ไม่อนุมัติ 30 ราย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการแจ้งมติและการออกคำสั่งย้าย พร้อมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือครูที่ยังจับคู่ในระบบ TMS ไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ ศธ. ได้ดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณ ในแผนงบประมาณปี 2568 (20 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (Teacher Rotation System หรือ TRS) เพื่อให้การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถยื่นผ่านทางออนไลน์ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยการย้ายทุกกรณีต้องยื่นคำร้องขอย้ายผ่านระบบ TRS เท่านั้น

ชื่นชมโรงเรียนบ้านเหล่าใหญ่ จังหวัดยโสธร จัดกิจกรรมค่ายลูกเสือฐานใหม่ “ฐานหมอลำซิ่ง”

รมว.ศธ. ชื่นชมคณะครูโรงเรียนบ้านเหล่าใหญ่ จังหวัดยโสธร ที่ได้จัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ-เนตรนารี กิจกรรมฐานการเรียนรู้ในการเดินทางไกล โดยผสมผสานศิลปะการแสดงมาดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัย มาใช้ในค่ายลูกเสือฐานใหม่ “ฐานหมอลำซิ่ง” ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้

ขอชื่นชมคณะครูโรงเรียนบ้านเหล่าใหญ่ จังหวัดยโสธร ที่ได้นำศิลปะการแสดงของชาวอีสานโดยได้นำเอาศิลปะที่มีมาตั้งแต่เดิมมาดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัย โดยนำเพลงหมอลำมาเพิ่มความสุข สร้างความสนุกสนานให้กับครูและลูกเสือ-เนตรนารีทุกคน รวมถึงกิจกรรมในฐาน ซึ่งกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารีนั้น เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนทุกคนมีระเบียบ วินัย และกฎเกณฑ์ รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักการเสียสละและบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบกิจกรรมนันทนาการที่สร้างสรรค์ และสามารถเป็นแบบอย่างการจัดการเรียนรู้ Active Learning โดยบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข มีความสนุกในการเรียน ตามนโยบายของ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข”

“ขอเน้นย้ำนักเรียนและคณะครูทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญและช่วยส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ ปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ 10 ข้อ และคำปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ ไม่ใช่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากวิชาลูกเสือ-เนตรนารี เพื่อให้นักเรียนทุกคนเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า ความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ