พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 (พระชนมพรรษา 71 พรรษา) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพในหลาย ๆ ด้าน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ทั้งในด้านการทหาร, ศาสนา, ดนตรีกีฬา, การแพทย์และสาธารณสุข, การบริหารจัดการน้ำ, การบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติและความรุนแรง, สังคมสงเคราะห์, ต่างประเทศ, เกษตรกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญด้านการศึกษา

พระราโชบายด้านการศึกษา ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน

  1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง กล่าวคือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง, ยึดมั่นในศาสนา, มั่นคงในสถาบันกษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวรวมทั้งชุมชนของตน
  2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง – มีคุณธรรม กล่าวคือ ต้องรู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด – ชอบ / ชั่ว – ดี, ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม, ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว และช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง
  3. มีงานทำ – มีอาชีพ กล่าวคือ การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัว หรือการฝึกฝนอบรมในสถานศึกษาต้องมุ่งให้เด็ก และเยาวชน รักงาน สู้งาน ทำจนงานสำเร็จ, การฝึกฝนอบรมทั้งในหลักสูตร และนอกหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนทำงานเป็นและมีงานทำในที่สุด และต้องสนับสนุนผู้สำเร็จหลักสูตร มีอาชีพ มีงานทำจนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว
  4. เป็นพลเมืองที่ดี กล่าวคือ การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน, ครอบครัว – สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี การเป็นพลเมืองดี คือ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศลให้ทำด้วยความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร

ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน : สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 จ.นครพนม, โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 จ.กำแพงเพชร, โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 จ.สุราษฎร์ธานี, โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 จ.อุดรธานี, โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 จ.สงขลา และโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 จ.ฉะเชิงเทรา โดยทรงพระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ เพื่อพัฒนาและยกระดับการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ดีของนักเรียน

พระองค์ทรงทราบดีว่า เยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในด้านการศึกษา ซึ่งทั้ง 6 โรงเรียนดังกล่าว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง พร้อมพระราชทานคำแนะนำและทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน อาทิ โครงการอาชีพอิสระ รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ อีก 8 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.สมุทรสงคราม, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ปทุมธานี, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.สมุทรสาคร, โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จ.นนทบุรี และโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จ.ระยอง รวมทั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้ง 66 แห่ง อีกด้วย

ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 9 แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข 58-66

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 9 แห่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตราสัญลักษณ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานตามที่ขอพระมหากรุณา ดังนี้

  1. ทรงพระราชทานรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 9 แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข 58-66
  2. ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง โดยเปลี่ยนหมายเลขลำดับ 1-66 ตามด้วยชื่อจังหวัด

สาระสำคัญ คือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 แห่ง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยรับเข้าอยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงให้โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

  1. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 58 จังหวัดนนทบุรี
  2. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 59 จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  3. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 60 จังหวัดเชียงใหม่
  4. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 61 จังหวัดเชียงใหม่
  5. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 62 จังหวัดเชียงราย
  6. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 63 จังหวัดร้อยเอ็ด
  7. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 64 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  8. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 65 จังหวัดพัทลุง
  9. โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 66 จังหวัดนราธิวาส

โครงการจิตอาสาพระราชทาน

โครงการจิตอาสาพระราชทาน ริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการทำความดีเพื่อสังคม มุ่งเน้นให้จิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และทำความดีอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนแก่ปวงชนชาวไทย

โครงการจิตอาสาพระราชทานได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยให้ชุมชนมีความสะอาด น่าอยู่ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดีขึ้น สร้างความรักความสามัคคี ช่วยลดปัญหาความยากจน ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง และสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้แก่คนไทย สมควรอย่างยิ่งที่ชาวไทยทุกคนจะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความจงรักภักดี และร่วมเป็นจิตอาสาทำความดีเพื่อส่วนรวม

กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำแนวทางราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้านการเป็นจิตอาสา เพื่อสร้างพื้นฐานให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ดี มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดต่อประสานงานกับกองอำนวยการหลักสูตรจิตอาสา 904 กองกิจการในพระองค์ ในการติดตามการทำงานของจิตอาสา 904 เพื่อขยายผลให้กับหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป ซึ่งโครงการนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเยาวชนไทยทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะให้กับเยาวชนไทย รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นชาติให้กับเยาวชนไทยอีกด้วย

โครงการจิตอาสาพระราชทาน ของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการ 3 ประเภท ได้แก่ จิตอาสาพัฒนา ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จิตอาสาภัยพิบัติ ดำเนินกิจกรรมเพื่อเฝ้าตรวจและเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ตลอดจนความช่วยเหลือ บรรเทาและฟื้นฟูความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าว และจิตอาสาเฉพาะกิจ ดำเนินกิจกรรมตามห้วงเวลาโดยเฉพาะเป็นครั้งคราว ซึ่งใช้กำลังพลจิตอาสาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมจิตอาสาย่อยอีกมากมาย เช่น การปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดชุมชน ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส บริจาคโลหิต ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งเสริมอาชีพแก่คนยากจน พัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมสันติภาพ เป็นต้น โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการจิตอาสาพระราชทานของกระทรวงศึกษาธิการได้ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น หรือโดยการจัดกิจกรรมจิตอาสาของตนเอง เนื่องจากเป็นโครงการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือสถานะทางสังคม

หนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาของกระทรวงศึกษาธิการที่โดดเด่น คือ โครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้ขอพระราชทานหลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือได้เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564  และได้ผลการดำเนินงานที่น่าประทับใจ มีผู้ผ่านการอบรมลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน จำนวน 260,500 คน สถานศึกษาที่ตั้งหน่วยลูกเสือจิตอาสาพระราชทานจำนวน 6,160 แห่ง นับเป็นโครงการที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม ช่วยให้ลูกเสือได้เรียนรู้ พัฒนาตนเอง รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้จักการทำงานร่วมกัน และยังช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งน่าอยู่ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการยังได้รับพระราชทานโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการพระราชทานอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบพอเพียง มุ่งเน้นให้ประชาชนมีทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบยั่งยืน สามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ และกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสายพันธุ์กระบือไทยให้คงอยู่สืบไป

ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกิจกรรมจิตอาสาในทุกมิติ อาทิ โครงการบูรณาการการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพกับการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนอาชีวะ, กิจกรรมจิตอาสาบริการประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน (Fix it Center), โครงการจิตอาสาสัญจร กระทรวงศึกษาธิการ “สามัคคี ทำความดี เพื่อแผ่นดิน”, กิจกรรมจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบริจาคโลหิต, โครงการฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี, โครงการเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์, เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม “จิตอาสาสำนักงาน ก.ค.ศ.”, บำเพ็ญประโยชน์สร้างสุขให้ผู้สูงวัย และโครงการทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงศึกษาธิการจัดโครงการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 9.00 – 15.00 น. ณ หอประชุมคุรุสภา มีการนำเสนอผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ และทิศทางการดำเนินงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  โครงการจิตอาสาพระราชทาน เป็นหลักที่จะผลักดันพันธกิจตามแผนการศึกษาชาติ ในการบูรณาการการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา อย่างชัดเจน กล่าวคือ ต้องเรียนรู้ความเป็นมาของชาติไทย ซึ่งบูรพกษัตริย์ได้ต่อสู้เสียเลือดเนื้อเพื่อรักษาดินแดน รักษาความสงบให้แก่บ้านเมืองมาโดยตลอด ศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ต้องรู้จักตนเอง รู้จักที่มาที่ไปของสกุล รู้จักแหล่งที่อยู่อาศัยหรือชุมชน มีความคิดริเริ่มในเชิงสร้างสรรค์ มีทักษะกีฬา หรืออาจต่อยอดเป็นนักกีฬามืออาชีพระดับโลกได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะหลอมรวมทุกคนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อประเทศตามแผนการศึกษาชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

จึงเห็นได้ชัดว่าโครงการจิตอาสาพระราชทานเป็นโครงการที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้เป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ ขอถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ท่าน ขอพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญในพระวรกายและพระพลานามัย ข้าพระพุทธเจ้าขอแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดจนขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ที่เว็บไซต์
https://jitarsa.moe.go.th

ทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชน ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมีพระราชดำริให้ดำเนิน ‘โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อปี 2552 โดยมีพระมหากรุณาธิคุณให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาสร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดี ผลการเรียนดี มีความมานะ อุตสาหะในการศึกษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) โดยทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยรวมถึงสามเณรทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช./ปวส. จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขาด้านความมั่นคง ตามความสามารถของแต่ละคน อันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ดีงาม ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ บ่มเพาะวินัย พัฒนาศักยภาพการเรียนให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ อันจะช่วยสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็งแก่เด็กและเยาวชนไทยผู้เป็นนักเรียนทุนในพระองค์ฯ ให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพ นำความรู้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นชุมชน มีสัมมาชีพมั่นคง เป็นพลเมืองทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ

การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนผู้ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. จากทุกจังหวัด ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องไปแล้ว รวม 14 รุ่น (กำลังทำการคัดเลือกในรุ่นที่ 15) จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 2,240 ราย เงินทุนพระราชทานที่ได้จัดสรรไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 702 ล้านบาท (จบปริญญาตรีแล้ว 8 รุ่น) สำหรับในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทาน ฯ รุ่นที่ 14 จำนวน 152 ราย และมีนักเรียนทุนพระราชทาน ฯ รุ่นที่ 6 ถึงรุ่นที่ 13 จำนวน 1,012 ราย

โดยนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงหลักการ แนวคิด แนวทางการดำเนินงานโครงการทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามพระบรมราโชบาย มีการทำสัญญารับทุน โดยให้ผู้รับทุนฯ เข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่รับทุน เพื่อบ่มเพาะให้เป็นคนดี มีทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม มีจิตอาสา ที่สำคัญเป็นการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพอย่างรอบด้าน

โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. โอกาสและความภาคภูมิใจในชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย

นายวีรนันท์ เปี่ยมมนัส นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 10 ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 โรงเรียนโพธิ์ทองพิทยาคม จังหวัดอ่างทอง เด็กวัยรุ่นที่มีความรับผิดชอบและเป้าหมายในอนาคตชัดเจน ไม่มีดีแค่เกรดเฉลี่ยสูงที่น่าชื่นชมเท่านั้น แต่ยังมีดีด้านอื่นๆ ไม่แพ้กันด้วย

นายศุภกร ทองดอนพุ่ม นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 กับโอกาสเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน มทร.พระจอมเกล้า พระนครเหนือ เส้นทางความฝันของทุกคนไม่ได้มาง่าย ๆ

นางสาววีราวรรณ พวงมะเดื่อ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 3 จากต้นกล้าเล็กๆ ที่กำลังขาดน้ำ กำลังจะตาย แต่สายฝนจากฟากฟ้าลงมา ทำให้ปัจจุบันได้พลิกชีวิตสอบเข้ารับราชการครูได้อย่างที่หวัง ในวิชาเอกภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนบ้านยุบตาเหน่ง จังหวัดระยอง

นางสาวคชาภรณ์ เมฆขยาย นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวศรสวรรค์ วัฒนวงษ์ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 12 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ

นางสาวเบญจวรรณ แสงเลื่อน นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 ตามความฝันศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายมนูญ ทิตย์วัลลี ครูดีเด่นผู้ดูแลนักเรียนทุนพระราชทาน รุ่นที่ 9 ในโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2563

นางสาวเจนญานี แก้วหาญ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 10 กำลังศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำตามความฝัน ได้เรียนในวิชาที่ชอบ กับการเป็นสัตวแพทย์ที่มีจริยธรรม

ร้อยตำรวจตรี อนุรุธ ด้วงทอง นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 2 ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากนัก แต่ด้วยทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. จึงเดินทางได้ตามความฝัน บรรจุรับราชการตำรวจ ในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจจังหวัดราชบุรี

นางสาวพนัชกร แผ้วจำรัส นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 13 โรงเรียนบางบัวทอง จากเด็กที่ตั้งความฝันไว้สูงอยากเป็นแพทย์ แต่ฐานะไม่ดี พ่อไม่มีกำลังพอจะส่งเรียน แต่โอกาสชีวิตพลิกผัน เมื่อผ่านการคัดเลือกได้รับทุน จึงกลับเข้าสู่เส้นทางความฝัน กับการตั้งใจเรียนที่จะเป็นแพทย์

นางสาวจินต์จุฑา ศรีสงค์ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 1 จากนักเรียนฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนัก ทำให้ความฝันที่จะรับราชการครูดูเลือนลาง แต่ด้วยความตั้งใจ ผลการเรียนดี ประพฤติดี จนมีโอกาสได้รับทุนฯ ทำให้ปัจจุบันได้พลิกชีวิตสอบเข้ารับราชการครูได้อย่างที่หวัง ในวิชาเอกภาษาไทย ที่โรงเรียนปทุมคงคา สมุทรปราการ

นายนอีม หลง นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 เด็กหนุ่มมากความสามารถจากจังหวัดนราธิวาส ใจรักออกกำลังกาย ด้วยโอกาสที่ได้รับทุนพระราชทาน ได้เข้าเรียนตามความฝัน ในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สาขารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จบแล้วพร้อมกลับไปทำงานบ้านเกิด ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

นางสาวณัฐวรา วิเศษทรัพย์ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 13 จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร เด็กสาวที่ได้รับโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ม.ท.ศ. ด้วยเงินทุนพระราชทาน ตั้งเป้าหมายจบแล้ว “จะกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด” และ “จะเป็นข้าราชการครูที่ดีของแผ่นดิน”

นางสาวไอศิกา เถาว์โมลา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 13 สาวน้อยอนาคตไกลผู้มีความประพฤติและผลการเรียนดี จึงมีโอกาสได้รับทุนฯ ต่อยอดความฝันการเป็นแพทย์เพื่อกลับมารักษาผู้คนในบ้านเกิด

นางสาวปานทิพย์ ทินกร ณ อยุธยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนลำปางกัลยาณี จังหวัดลำปาง นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 14 สาวน้อยมากความสามารถทั้งด้านการเรียน และการร้องเพลงที่เคยผ่านการประกวดรายการ The Voice Kid Thailand ผู้ที่มุ่งมั่นศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก ต่อยอดความฝันอาชีพทางด้านดนตรีที่ตนเองรัก

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า กลุ่มสารนิเทศ สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ผลิตเผยแพร่สื่อออนไลน์ “ศธ.360 องศา”

อานนท์ วิชานนท์, ปารัชญ์ ไชยเวช : สรุป
อ้างอิงข้อมูล – ภาพ : http://www.royaloffice.th, https://moe360.blog/, https://jitarsa.moe.go.th
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : บรรณาธิการ