25 กรกฎาคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือการดำเนินโครงการ/กิจกรรมจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ.และเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. ผู้บริหารจากส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัด บุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจิตอาสาเข้าร่วมประชุม จำนวน 400 คน ณ หอประชุมคุรุสภา พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live: ETV และ ศธ.360 องศา

ภาพ https://shorturl.at/goY25
Live ภาคเช้า https://fb.watch/l-e9xR_Pej
Live ภาคบ่าย https://fb.watch/l-eeeMGH9x
TikTok https://vt.tiktok.com/ZSLH6PLCn
คลิปสัมภาษณ์ https://fb.watch/l-3MwC7NBz

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญและผูกพันกับสังคมไทยและประชาชนชาวไทยมาอย่างช้านาน เป็นสถาบันหลักของชาติที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับประชาชนและสังคมมาตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทยทุกกาลสมัย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ที่สำคัญเป็นปัจจัยแห่งความมั่นคงที่ทรงนำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย มีเอกราชเป็นของตนเอง

การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์รวมจิตใจ ความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ เนื่องมาจากสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยอย่างเป็นอเนกอนันต์มาตลอดรัชสมัยที่ทุกพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์

จวบจนรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงชนชาวไทย ดังที่ได้ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 ว่า “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ทั้งนี้ โครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่น ยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญา ในการทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง รวมถึงท้องถิ่นและสังคมรอบข้าง ตลอดจนช่วยเหลือ บรรเทา และฟื้นฟูความเดือดร้อนของสาธารณชนจากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ภูมิภาคของประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข สามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงอาจเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในทุกมิติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของจิตอาสา เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ได้สร้างพื้นฐานการเป็นพลเมืองที่ดี มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตสำนึกที่ดี มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จึงได้น้อมนำโครงการจิตอาสาพระราชทานมาดำเนินการ โดยประสานและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามพระบรมราโชบาย ทั้งจิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ และจิตอาสาเฉพาะกิจ กล่าวคือ

  • จิตอาสาพัฒนา ดำเนินกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  • จิตอาสาภัยพิบัติ ดำเนินกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าตรวจและเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยและแผ่นดินไหว ตลอดจนความช่วยเหลือ บรรเทาและฟื้นฟูความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าว
  • จิตอาสาเฉพาะกิจ ดำเนินกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามห้วงเวลาโดยเฉพาะเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

“โครงการจิตอาสาพระราชทาน จึงถือเป็นหลักที่จะผลักดันพันธกิจตามแผนการศึกษาชาติ ในการบูรณาการการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา อย่างชัดเจน กล่าวคือในเรื่องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องเรียนรู้ความเป็นมาของชาติไทย บูรพกษัตริย์ได้ต่อสู้เสียเลือดเนื้อเพื่อรักษาดินแดน รักษาความสงบให้แก่บ้านเมืองมาโดยตลอดได้อย่างไร เรื่องวัฒนธรรม เด็กและเยาวชนต้องรู้จักตนเอง รู้จักที่มาที่ไปของสกุล รู้จักแหล่งที่อยู่อาศัย ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติว่ามีความเป็นมาอย่างไร เรื่องศิลปะ ต้องมีความคิดริเริ่มในเชิงสร้างสรรค์ และเรื่องกีฬา ต้องส่งเสริมการออกกำลังเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย หรืออาจต่อยอดเป็นนักกีฬามืออาชีพระดับโลกได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมานั้นจะหลอมรวมเป็นทุกคนที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อประเทศตามแผนการศึกษาชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าว

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการและกิจกรรมที่สำคัญจากทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ที่บุคลากรร่วมดำเนินการ อาทิ โครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน, โครงการพระราชทาน “อารยเกษตร” สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง, กิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย, โครงการบูรณาการการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพกับการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนอาชีวะ, กิจกรรมจิตอาสาบริการประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน (Fix it Center), โครงการจิตอาสาสัญจร กระทรวงศึกษาธิการ “สามัคคี ทำความดี เพื่อแผ่นดิน”, กิจกรรมจิตอาสา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบริจาคโลหิต, โครงการฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี, โครงการเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานะวงศ์, เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม “จิตอาสาสำนักงาน ก.ค.ศ.”, บำเพ็ญประโยชน์สร้างสุขให้ผู้สูงวัย และโครงการทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น

อานนท์ วิชานนท์, พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, พีรณัฐ ยุชยะทัต, ธัฐนันท์ คดขวาน้อย / ภาพ
สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย / Facebook LIVE
นัทสร ทองกำเหนิด / TIKTOK