จังหวัดสระแก้ว 23 กุมภาพันธ์ 2566 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาและอาชีพด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ., นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ, นายคมกฤช จันทรขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. โดยมีนายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้การต้อนรับและเข้าร่วม ณ หน่วยฝึกและพัฒนาอาชีพโครงการทับทิมสยาม 02 ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว (ศฝช.สระแก้ว) อำเภอคลองหาด
รมว.ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของประชาชน จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อใช้ในการแสวงหาปัจจัย 4 แต่การที่จะมีอาชีพที่มั่นคงได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน พัฒนาตนเองให้สามารถหาช่องทางการใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เพื่อการประกอบอาชีพ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมเพื่อการดำรงชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการจัดการศึกษาหรือใช้กระบวนการทางการศึกษาเข้ามาพัฒนา เพื่อให้ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพในการประกอบอาชีพ จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้เป็นอย่างดี
การจัดการศึกษาและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ จึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของสังคมโลก เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถแข่งขันกันได้ และยังเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลไกการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงเป็นอย่างมาก อาชีพที่ยังอยู่ได้ก็มีรายได้ลดน้อยลงแต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูง
ซึ่งประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ก็คือกลุ่มเกษตรกรรมที่อาจมีต้นทุนในการผลิตที่สูงแต่กลับมีผลกำไรจากการจัดจำหน่ายผลิตผลหรือสินค้าในจำนวนที่น้อยหรือได้ราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ตามมา
การดำเนินโครงการนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนจะได้เข้ามาเรียนรู้ จนสามารถนำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับอาชีพของตนเอง
อย่างไรก็ตาม การที่งานของเรานั้นจะประสบความสำเร็จได้นั้น อาจจำเป็นต้องเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ และทักษะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานการศึกษา และภาคีเครือข่าย รวมถึงปราชญ์หรือผู้รู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ อาจต้องให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในแต่ละส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ และการทำงานที่สอดคล้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในชุมชน ท้องถิ่น ตามบริบทและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ซึ่งอาจแตกต่างกัน โดยคำนึงถึงการใช้การตลาดนำการผลิต
ในการนี้ รมว.ศธ. และคณะ ได้ร่วมปลูกต้นกล้วยไข่ และชมพู่เพชรคลองหาด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอคลองหาด ตลอดจนนั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ชมแปลงสาธิตฐานเรียนรู้การปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน, ไม้ดอกไม้ประดับต้นทานตะวัน, พืชสมุนไพรดีปลี ฟ้าทลายโจรและเยี่ยมชมนิทรรศการ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพชุมชนท้องถิ่น” ภายใต้สโลแกน “ทับทิมสยาม 02 มองอดีต สู่อนาคต” รวมทั้งการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนคลองหาดพิทยาคม พร้อมชมสื่อนำเสนอชุด “เหลียวหลังแลหน้า โครงการทับทิมสยาม 02”
“ชื่นชมสำนักงาน กศน. และขอบคุณไปยังภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีทักษะความรู้ และความสามารถในการประกอบและพัฒนาอาชีพ ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ จะช่วยส่งผลให้ประชาชนได้รับการพัฒนาความรู้ สามารถนำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับ ไปใช้ในการพัฒนายกระดับอาชีพ สามารถ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป”













อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น