ศธ.มอบรางวัลประกวดภาพวาด “วิทยาศาสตร์-ศิลปะ” ส่งเสริมวัฒนธรรมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

23 พฤศจิกายน 2565, ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก / นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล โครงการประกวดภาพวาดส่งเสริมวัฒนธรรมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 ประจําปี พ.ศ. 2565

นายนิรุตติ สุทธินนท์ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมสำนักงาน กศน. โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต มูลนิธิเอ็มโอไทย และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOA ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมและขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัลทุกคน

วิทยาศาสตร์ มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้มนุษย์ได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณ มีทักษะที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลอย่างหลากหลาย และมีประจักษ์พยานตรวจสอบได้

ในขณะที่ศิลปะ ก็มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ช่วยในการผ่อนคลาย ด้วยการระบายความรู้สึกนึกคิดอย่างอิสระ เกิดการพัฒนาจิตใจ สุนทรียภาพความงามในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพในด้านการคิดเชิงระบบ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านจิตใจให้มีสุนทรียภาพความงามในจิตใจ จึงเป็นการพัฒนาศักยภาพในทุกด้านให้เป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์ด้วยการทำงานของสมองทั้งสองด้านให้มีความสมดุลกัน

“กิจกรรมการประกวดภาพวาด ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการการเรียนรู้ ระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกันได้อย่างดียิ่ง ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามแนวทางของการจัดการการเรียนรู้แบบ Steam Education ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งขับเคลื่อนอีกด้วย”

นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการประกวดภาพวาดฯ ในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ ระหว่างวิชาวิทยาศาสตร์ กับศิลปะ โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อยกระดับพัฒนาการของเด็กและเยาวชนให้มีทักษะและการคิดอย่างเป็นระบบมีเหตุผล เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะได้อย่างสวยงาม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสุนทรียภาพ เป็นผู้มีจริยธรรมคุณธรรม เกิดความสัมพันธ์ท่ีดีกับครอบครัว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงและดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีความสุข

โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ได้ดำเนินการจัดประกวดภาพวาดให้กับเด็กนักเรียนในระดับช้ันประถมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดทั้งสิ้น 1,053 ภาพ และจะนำภาพท่ีได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศส่งเข้าร่วมประกวดในระดับนานาชาติ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOA ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ

ในการนี้นายนิรุตติ สุทธินนท์ ได้ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางการศึกษาและวิชาการระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน กศน.โดยนายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน., ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต โดยนายอาศิส เชยกลิ่น ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต, มูลนิธิศิลปะ และวัฒนธรรม โมกิจิ โอกาดะ โดยนายไซโต้ ยาสึฮิโกะ ประธานมูลนิธิฯ และมูลนิธิเอ็มโอเอไทย โดยนายสุชาติ ชาญนิรุตติ กรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้แทนลงนาม โดยมีนายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัด ศธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในด้านการศึกษาและวิชาการ มีเป้าหมายร่วมมือกันสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม เกษตรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง พัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนนักวิชาการที่จะเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ ตลอดจนร่วมมือกันศึกษาวิจัยงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์กับศิลปะต่อไป

จากนั้นประธานในพิธีฯ ได้มอบโล่รางวัลแก่นักเรียนที่ชนะการประกวดภาพวาด ในระดับ ป.1-ป.6 จำนวน 46 รางวัล และนายไซโต้ ยาสึฮิโกะ มอบโล่พร้อมเกียรติบัตรระดับนานาชาติ จำนวน 2 รางวัล แก่ ด.ญ.มณฑาทิพย์ ปิดตาทะสา ชื่อภาพสืบสาน ได้รับรางวัลจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และ ด.ช.ธนโชติ ชาวด่าน ชื่อภาพเล่นหนังตะลุง ได้รับรางวัลและได้รับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดเด็ก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOA ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 48 รางวัล

นายไซโต้ ยาสึฮิโกะ กล่าวด้วยว่า นิทรรศการภาพวาดเด็กพิพิธภัณฑ์ MOA จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีจิตใจงดงาม บ่มเพาะสุนทรียภาพด้วยการแสดงออกทางอารมณ์หรือความรู้สึกที่ชอบและสนใจผ่านการสร้างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และบุคคลอื่นตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้นการส่งเสริมกิจกรรมการสร้างสรรค์ของเยาวชนยังเป็นการพัฒนาพลังความคิดและการกระทำด้วยตนเอง หรือพลังแห่งชีวิตตามความฝันและเป้าหมาย ในเวลาเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสนใจในจารีตประเพณีและวัฒธรรมของแต่ละประเทศและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมสากล

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: