AIS ผนึก 3 กระทรวงหลัก ศธ. สธ. มท. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ตั้งแต่ระดับเด็ก เยาวชน และประชาชน สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลของตนเองได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
AIS จับมือภาครัฐ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงนามความร่วมมือ พร้อมเปิดตัว “อุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป โดยคุณครูสามารถเรียนรู้ได้เอง และยังสามารถนำไปสอนนักเรียนได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER ด้วยการออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงมาตรฐานตามกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลอย่าง DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ตั้งเป้าส่งต่อไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย พร้อมเดินหน้าชวนคนไทย ทุกเพศ ทุกวัย เข้าร่วมเรียนรู้วัดระดับทักษะดิจิทัล จากหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อยกระดับองค์ความรู้ในฐานะพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ภัยร้ายจากไซเบอร์ เป็นภัยมืดที่ส่งผลร้ายในหลายมิติ ไม่เลือกช่วงอายุ ไม่เลือกเพศ เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา ครอบคลุมทั้งระดับโลก ระดับประเทศ สังคม ชุมชน เข้าสู่ครัวเรือน และรุกเข้าถึงบุคคล ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ระดับรุนแรง และระดับที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะภัยของไซเบอร์ที่มีต่อเด็กนักเรียน
เด็กนักเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาว อาจจะรู้ไม่เท่าทัน ขาดวุฒิภาวะในการประเมินเนื้อหา ขาดการตระหนักรู้ การควบคุมตนเอง การยับยั้งชั่งใจ และความอยากทดลอง ซึ่งหลายกรณีส่งผลกระทบที่มีระดับความรุนแรงจนอาจทำให้เด็กนักเรียนสูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคต และประเทศอาจต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่า
หลักสูตรดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์” เป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการศึกษาไทยที่จะทำให้เราก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการในฐานะเสาหลักภาคการศึกษาของประเทศ มีความมุ่งมั่นตั้งใจขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ที่ต้องการให้เด็กไทยมีทักษะใหม่ ๆ ด้านดิจิทัล มองเห็นประโยชน์จากการใช้งาน และความปลอดภัยของนักเรียน เป็นสิ่งที่ ศธ. กำหนดให้เป็น 1 ในนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพทางการศึกษา เด็กนักเรียนจะต้องเข้าใจถึงความปลอดภัย และรู้จักโทษร้ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ต้องรู้จักการเลือกรับและรู้ถึงข้อจำกัด ผลเสีย และภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน
ดิฉันเชื่อมั่นว่า เนื้อหาในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ มีความครอบคลุมทั้งเนื้อหาการเรียนการสอนที่น่าสนใจ มีการออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย มี Animation สำหรับเด็กปฐมวัย เด็กอนุบาล มีการทดสอบเพื่อวัดผลการเรียนรู้ รวมถึงคุณครูที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจ เพื่อตนเองได้ทันต่อโลกดิจิทัล สามารถใช้องค์ความรู้ที่ได้ เพื่อการดูแลเด็กนักเรียน ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง และเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ จะมีส่วนร่วมในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ นำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ สอนให้แก่นักเรียนไทยทั่วประเทศ
หลักสูตรนี้อุ่นใจไซเบอร์นี้ ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถนำมานับชั่วโมงการพัฒนา เพื่อประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด
ขอขอบคุณ สธ., มธ., มจธ. และ AIS ที่เข้ามาทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่ง ศธ.จะเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเด็กไทย ให้มีความรู้ทักษะดิจิทัลรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความสูญเสียด้านบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดสูงสุดทั้งต่อการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป”

ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริม ในฐานะที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขยายหลักสูตรไปยังโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า “นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ความมั่นคงภายใน และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทยแล้ว วันนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งในนั้นคือการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ผ่านการมีทักษะรับมือกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลได้อย่างดี เราจึงสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 700,000 คน ได้เรียนรู้ในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ซึ่งเชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน”

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นการทำงานร่วมกับ AIS พัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการกระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิต รับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ นับได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน”

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรดิจิทัลอุ่นใจไซเบอร์ กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ โดยเราได้ทำการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ให้ออกมาอยู่ในสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงยังการจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย”

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “เป้าหมายการทำงานของ AIS ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น แต่เราตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 เราจึงเปิดตัว โครงการ อุ่นใจไซเบอร์ เพื่อเป็นแกนกลาง สร้างเครือข่าย ชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทั้งในมุมของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และในมุมของการสร้างภูมิปัญญา ในลักษณะขององค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
“วันนี้ AIS ยังคงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ สร้างสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในชื่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ที่พัฒนาเนื้อหาหลักสูตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ออกแบบให้อยู่ในลักษณะขอกราฟิกหรือแอนิเมชัน และมีกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดเช่นกัน”
“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ได้มีการนำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
- Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
- Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
- Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ทำการทดลอง ทดสอบ เสมือนจริงใน Sandbox และมีคุณครูพร้อม นักเรียน ที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน

นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การลงนามความร่วมมือเปิดตัวหลักสูตรดิจิทัล อุ่นใจไซเบอร์ ในครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการยกระดับการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนนรู้เท่าทันการใช้งานสื่อดิจิทัล และมีภูมิคุ้มกันต่อภัยไซเบอร์ โดยมรกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และวิธีการรับมือบนโลกออนไลน์ การใช้สื่อเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม”

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลของทุกท่านได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย






จงจิตร ฟองละแอ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ใส่ความเห็น