รองปลัดฯ-ผู้ตรวจราชการ ศธ. ลงพื้นที่กระทรวงศึกษาธิการสัญจร จ.ราชบุรี ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ “กระทรวงศึกษาธิการสัญจร” ภาคกลาง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

สาย 1 รองปลัด ศธ. “ธนู ขวัญเดช” นำคณะลงพื้นที่ โรงเรียนอนุบาลเมืองราชบุรี และวิทยาลัยการอาชีพปากท่อ อำเภอปากท่อ

นายธนู ขวัญเดช กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีในครั้งนี้ เพื่อต้องการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สอดคล้องกับบริบทความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นแนวทาง ปัญหา อุปสรรค ไปสู่การแก้ไข เพื่อให้การปฏิบัติในพื้นที่ระดับภาคและจังหวัด เป็นไปด้วยความราบรื่น

ในส่วนของโรงเรียนอนุบาลเมืองราชบุรี มีความพร้อมในการเป็น “โรงเรียนคุณภาพ” นำร่องของจังหวัดราชบุรี มีความเป็นห่วงในเรื่องของรอยต่อการเรียนการสอนในช่วงที่ครูเกษียณอายุราชการ กับการที่รับครูเข้ามาสอนต่อ จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยดูแลด้วย และอีกประเด็นคือ การนำนักเรียนลูกข่ายเข้ามาเรียนร่วม ต้องดูในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยด้วย

น.ส.สุวพัชร์ เริ่มภักตร์ ผอ.โรงเรียนอนุบาลเมืองราชบุรี กล่าวถึงการที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนคุณภาพนำร่องของจังหวัดราชบุรี ประจำภาคตะวันตก เนื่องจากโรงเรียนมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คุณภาพของบุคลากร การสร้างโอกาสให้ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวัย ในระดับชั้นอนุบาลมีครูที่จบสาขาวิชาเอกปฐมวัยโดยตรง ในระดับประถมศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีระบบสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการตามนโยบายของ ศธ. และพร้อมจะนำข้อคิดเห็นจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ไปต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับวิทยาลัยการอาชีพปากท่อ ขอชื่นชมผู้บริหารที่สามารถดำเนินการเรียนการสอนแบบให้ฟรีและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น ควรมีการยืดหยุ่นในเรื่องของใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ โดยตรง

นายพิศาล ปฤษณารุณ ผอ.วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ กล่าวว่า วิทยาลัยได้ดำเนินการตามนโยบายของ ศธ. ทั้งในเรื่องของสถานศึกษาปลอดภัย โดยสร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถานศึกษา นักศึกษา และผู้ปกครอง การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มีการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง การติดตามนักเรียนตกหล่น และจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพกับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ได้จัดโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาในโครงการจำนวน 133 คน โดยเริ่มตั้งแต่เข้าแนะแนวกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนชั้น ม.3 ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ตามชายขอบ โดยวิทยาลัยจัดที่พักให้ฟรี พร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน ชุดนักเรียน อาหารครบ 3 มื้อ และยังมีการฝึกวินัยตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้าเรียน และให้มีการฝึกสอนในสถานประกอบการ ซึ่งหลังเรียนจบพร้อมรับเข้าทำงาน โครงการนี้นับเป็นโครงการที่เพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น สร้างอาชีพ และมีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวต่อไปได้

วิมล มาเทียน / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / ภาพ


สาย 2 คณะผู้ตรวจราชการ ศธ. นำคณะลงพื้นที่ โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ และโรงเรียนปากท่อพิทยาคม

ผู้ตรวจราชการ ศธ. (นายธีร์ ภวังคนันท์, นายธฤติ ประสานสอน, นายทวีศักดิ์ เที่ยงธรรม) พร้อมด้วยศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด และคณะผู้บริหารส่วนกลาง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ อำเภอเมืองราชบุรี

นายสุรินทร์ สำลี ผอ.โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ กล่าวว่า โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ เปิดสอนระดับ ม.1-ม.6 มีนักเรียน 3,578 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 258 คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ. “นางสาวตรีนุช เทียนทอง” เช่น การแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หลังสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อช่วยลดช่วงว่างการเรียนรู้ ช่วยเหลือด้านสุขภาวะ ให้ความสำคัญเด็กเป็นรายบุคคล เพราะพื้นฐานครอบครัวแตกต่างและหลากหลาย ความต้องการจึงเฉพาะบุคคล ไม่สามารถเหมารวมได้

โครงการพาน้องกลับมาเรียน ได้จัดประชุมครู ผู้ปกครอง เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการจัดกิจกรรมส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนตามผลการคัดกรองนักเรียน ตลอดจนจัดระบบดูแลการเข้า-ออกสถานศึกษาของนักเรียน และจัดให้มีสายด่วนติดต่อกับผู้ปกครองทันที ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สามารถพานักเรียนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ที่เคยศึกษาที่โรงเรียนกลับมาได้ครบทั้ง 4 คน

โครงการสถานศึกษาปลอดภัย (MOE Safety Center) โรงเรียนได้จัดให้มีระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แบบเพื่อนดูแลเพื่อน พี่ดูแลน้อง โดยมีครูที่ปรึกษาและครูประจำระดับชั้นเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดให้นักเรียนรักษาดินแดนมีการอยู่เวรรักษาการณ์อำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเช้าและหลังเลิกเรียน พร้อมจัดอบรมคนรุ่นใหม่ขับขี่ปลอดภัย มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ มีความตั้งใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของ รมว.ศธ.ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอชื่นชมผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบายอย่างดีเยี่ยม และยังมีนโยบายที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน สอนให้นักเรียนรู้จักออมเงิน การพัฒนาทักษะการอ่านขั้นสูง ปลูกฝังในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ง่าย หากปล่อยให้พฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้นคงอยู่ต่อไป โดยไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขช่วยเหลือ แนวโน้มอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียน การปรับตัวในครอบครัว และการใช้ชีวิตในสังคมต่อไปในอนาคต

ครูจึงมีบทบาทอย่างยิ่งเพราะนอกจากการสอนทางวิชาการในหลักสูตรแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนานักเรียน คือ ต้องเป็นที่ปรึกษา สอนในเรื่องความประพฤติ การแสดงออกทางบุคลิกภาพ อารมณ์จิตใจ การปรับตัวและการมีมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ครูคือผู้ส่งเสริมพัฒนา ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาและนักเรียนที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิด มีทิศทางชีวิตที่สร้างสรรค์ หรืออย่างน้อยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข

จากนั้น ผู้ตรวจราชการ ศธ. และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนปากท่อพิทยาคม อำเภอปากท่อ

นายศิริชัย ทองหน้าศาล ผอ.โรงเรียนปากท่อพิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนปากท่อพิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง เปิดสอนระดับ ม.1-ม.6 มีนักเรียน 519 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 42 คน โดยขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนของ ศธ. ในทุกประเด็น อาทิ ด้านการพัฒนาครูและการจัดการเรียนการสอน ได้ส่งเสริมศักยภาพตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ค่ายคณิตศาสตร์ กิจกรรมภาษาต่างประเทศ การเรียนการสอนประวัติศาสตร์, การจัดการศึกษาแบบทวิภาคีสู่คุณภาพมาตรฐาน ผ่านศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ โดยปรับโครงสร้างหลักสูตรแผนการเรียนในระดับ ม.ปลาย แบบหลักสูตรระยะสั้น โดยเทียบเคียงกับหลักสูตรของวิทยาการอาชีพปากท่อ และได้ฝึกงานกับสถานประกอบการจริง

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวชื่นชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปากท่อพิทยาคม ซึ่งนอกเหนือจากที่เน้นจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย ศธ.แล้ว ยังเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย สอนให้นักเรียนรู้ความเป็นมา อาทิ จากศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่านและเส้นทางการเดินทัพในสมัยอยุธยา และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สอนให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ต้องตั้งปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริง สร้างสมมติฐาน ทดลองพิสูจน์ และสรุปผลได้

ในการนี้ ผู้ตรวจราชการ ศธ.และคณะ ได้ร่วมกิจกรรมทดลองทำโครงงานวิทยาศาสตร์ “บอลลูนอากาศร้อน” วัสดุทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษแก้ว ซึ่งต้องใช้ความสามัคคีของสมาชิกภายในกลุ่มทั้ง 8 คน ตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติ การคิดวางแผน การแบ่งหน้าที่ในการทำงานรวมถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำบอลลูนอากาศร้อนคือการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ


สาย 3 รองปลัด ศธ. “สุทิน แก้วพนา” นำคณะลงพื้นที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง และโรงเรียนวัดโพธิ์บัลลังก์ อำเภอบ้านโป่ง

ที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง, นางฐิรนันท์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง นำเสนอโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการ 18 คน ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นหอพัก จำนวน 2 หลัง เปลี่ยนหลังคาจุดที่รั่ว เปลี่ยนฝ้าเพดาน และเดินระบบไฟฟ้า ในส่วนของกิจกรรมของนักเรียนหอพัก ทำการบำเพ็ญประโยชน์บริเวณโดยรอบวิทยาลัย มีการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน สวดมนต์ และนั่งสมาธิก่อนเข้านอน มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว สร้างรายได้ระหว่างเรียน จัดโครงการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ด้วยธุรกิจการขยายพันธุ์ CACTUS

ส่วนปัญหาและอุปสรรคโครงการ คือ สถานศึกษามีอาคารชั่วคราวเพื่อเป็นหอพักวิทยาลัยเพียง 2 หลัง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่มีความประสงค์ขออาศัยเข้าพักหอพักวิทยาลัย รวมถึงงบประมาณที่ทำการปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นหอพักครั้งนี้ ไม่เพียงพอในด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เตียง ที่นอน ตู้เสื้อผ้า พัดลม ล็อคเกอร์ใส่ของ ชั้นวางรองเท้า ตลอดจนขาดแคลนบุคลากรผู้ดูแลหอพักประจำทั้งหอพักหญิงและหอพักชาย

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ภาพรวมของจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคกลาง มี GDP ค่อนข้างสูง สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ค่อนข้างดี ในส่วนของการศึกษาด้านอาชีพ จึงมีผู้สนใจเรียนมาก โดยเฉพาะวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง ซึ่งเปิดสอนในสาขาที่สำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และแผนพัฒนาประเทศ

สำหรับสภาพปัญหาโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ถือว่ามีน้อยมาก เนื่องจากสถานศึกษามีความพร้อมสูงทั้งที่เพิ่งจัดโครงการเป็นปีแรก การดูแลนักศึกษาทำได้ดีมาก เชื่อว่าเด็กที่อยู่ในโครงการจะมีความสุข ทั้งนี้กรณีที่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองมีศักยภาพเพียงพอ ก็ยินดีที่จะส่งเด็กมาเรียนสายอาชีพ ขณะเดียวกันขอให้สถานศึกษาแสวงหาผู้สนับสนุนภาคเอกชน ซึ่งจังหวัดราชบุรีมีชุมชนต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง มีการส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจัง ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง น่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนสู่ตลาดแรงงานได้

นางสุปราณี นฤนาทนโรดม ผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง เป็นสถานศึกษาที่จิ๋วแต่แจ๋ว อยากขอแนะนำให้วิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานภายนอกหรือชุมชนเข้ามาใช้พื้นที่วิทยาลัย เช่น การอบรมสัมมนาต่าง ๆ จะเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงนักศึกษาเข้ามาเรียนให้มากขึ้น ส่วนด้านความปลอดภัยขอให้เพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัยทางจิตใจด้วย เช่น เรื่องการบูลลี่ ทำอย่างไรที่จะเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการใช้ถ้อยคำที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเพื่อน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะ เพราะหากได้ครูที่เก่งมาสอน ก็จะได้เครือข่ายซึ่งส่วนใหญ่มาจากครูโดยตรงด้วย

จากนั้น รองปลัด ศธ. และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดโพธิ์บัลลังก์ ตามโครงการโรงเรียนคุณภาพ ระดับประถมศึกษา ซึ่งพบว่าโรงเรียนมีการดำเนินการจัดกิจกรรมที่พัฒนาการศึกษาทั้ง 8 จุดเน้น ได้แก่

  • จุดเน้นข้อที่ 1 ด้านความปลอดภัย จัดทำโครงการความปลอดภัยในสถานศึกษาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในสถานศึกษา และประชาสัมพันธ์ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองรู้จักช่องทางในการแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน MOE Safety Center
  • จุดเน้นข้อที่ 2 ระบบประกันคุณภาพ การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก
  • จุดเน้นข้อที่ 3 หลักสูตรฐานสมรรถนะ จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีไทย-ดนตรีสากล โดยวิทยากรท้องถิ่น หลักสูตรการส่งเสริมอาชีพ หลักสูตรต้านทุจริต เป็นต้น
  • จุดเน้นข้อที่ 4 การพัฒนาครู ส่งเสริมครูผู้สอนอบรมพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ แล้วนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
  • จุดเน้นข้อที่ 5 การเรียนการสอน โดยปรับปรุงห้องเรียนปกติให้เป็นห้องเรียนคุณภาพที่มีสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จัดครูผู้สอนครบชั้นเรียน และตรงตามวิชาเอก จัดบรรยากาศชั้นเรียนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
  • จุดเน้นข้อที่ 6 การวัดและประเมินผล จัดทำระเบียบการวัดและประเมินผลของสถานศึกษา โดยใช้วิธีการประเมินตามสภาพจริง มีการประเมินผลการจัดการเรียนรู้จากแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
  • จุดเน้นข้อที่ 7 การนิเทศ กำกับติดตาม มีการดำเนินการนิเทศกำกับติดตามจากภายนอก โดยสำนักงานเขดพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 และการนิเทศกำกับติดตามจากภายใน โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูวิชาการ
  • จุดเน้นข้อที่ 8 ข้อมูลสารสนเทศ (Big Data) มีการจัดทำข้อมูล เก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคลผ่านระบบ DMC เก็บข้อมูลผลการเรียนของนักเรียนผ่านโปรแกรม SchoolMis เป็นต้น

ด้านปัญหาอุปสรรค โรงเรียนยังขาดแคลนงบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้งานในระบบต่าง ๆ เช่น EMIS มีการจำกัดเวลาในการใช้งาน อาจทำให้โรงเรียนเข้าใช้งานไม่ทันเวลา

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนวัดโพธิ์บัลลังก์มีความน่าสนใจหลายจุด โดยเฉพาะอาคารเรียนที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนของโรงเรียนได้อย่างดี เพราะโรงเรียนจะเติบโตได้ อาคารกลางต้องโดดเด่น เป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจผู้ปกครองให้ส่งลูกหลานเข้ามาเรียน เมื่อเด็กเพิ่มครูก็จะเพิ่ม คุณภาพและงบประมาณก็จะตามมา ซึ่งแนวคิดเรื่องโรงเรียนคุณภาพนั้น มีหัวใจสำคัญคือการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง เชื่อว่าอีก 2-3 ปีที่นี่น่าจะเห็นผลชัดเจนกว่านี้แน่นอน

ยังมีเรื่องสำคัญที่น่าสนใจ คือ เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขอชื่นชมที่โรงเรียนเรียนนำจุดแข็งของพื้นที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาบูรณาการกับหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ และ Active Learning ทำออกมาได้อย่างพอดีพอเหมาะ เป็นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

ขณะที่โครงการพาน้องกลับมาเรียน โรงเรียนก็ทำได้ดีเช่นกัน ขอให้ผู้บริหารพยายามหาทุนให้เด็กกลุ่มด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตอนนี้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ อาจจะต้องหาแหล่งทุนสนับสนุน เครือข่ายภาคเอกชนต่าง ๆ ให้เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ได้มากขึ้น

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ


บัลลังก์ โรหิตเสถียร / บรรณาธิการข่าว
กลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: