26 สิงหาคม 2565, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา / นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และ 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยา จำกัด
ข้อมูลนำเสนอ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1, 2 และ สพม.พระนครศรีอยุธยา
สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 สถานีแก้หนี้ครูได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และประสานงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยา จำกัด เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ โดยได้ดำเนินการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด, ประชุมร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยา, ประชุมคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และขยายผลสร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงให้ครูรุ่นใหม่ที่มีอายุราชการ ตั้งแต่ 1 – 5 ปี ได้เข้ารับการอบรมรับความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงิน มีครูรุ่นใหม่เข้ารับการอบรมพัฒนาหลักสูตร “ครูรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง” รุ่นที่ 16 จำนวน 802 คน โดยมีความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ดังนี้
- สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยา ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เงินเดือนเหลือ 30% จำนวนทั้งสิ้น 45 คน โดยวิธีการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ ปรับวิธีการส่ง และลดการชำระหุ้นสะสมรายเดือน
- สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยา ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จาก 6.25 % เหลือ 5.75 % (ลดลง .50 สตางค์)
- จัดโครงการพิเศษในการช่วยเหลือ อัตราดอกเบี้ย 4.50 บาท ดังนี้
– โครงการช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินกับธนาคารออมสิน (ช.พ.ค.) และธนาคารกรุงไทย (ผู้ที่มีสินเชื่อธนวัฎ) ช่วยเหลือสมาชิก 251 คน ยอดเงินรวม 224,008,000 บาท
– โครงการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยโควิด 19 ช่วยเหลือสมาชิก 4,544 คน ยอดเงินรวม 615,117,000 บาท
– โครงการเงินกู้ด่วนพิเศษ ช่วยเหลือสมาชิก 978 คน ยอดเงินรวม 15,589,700 บาท
สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 จากการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาลูกหนี้พบว่า ขาดการวางแผนใช้เงิน อัตราดอกเบี้ยสูง แหล่งเงินกู้หาง่าย และมียอดหนี้สูง โดยมีครูเป็นหนี้ 1,351 คน (88.53%) ครูลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 39 คน (2.55%) ซึ่งผลการแก้ไขหนี้สิน ได้แก่ ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพระนครศรีอยุธยาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2 ครั้ง จาก 6.25 เหลือ 5.50 ส่งผลให้ครูได้รับประโยชน์ 100%, ปรับโครงสร้างหนี้/รวมหนี้ โดยให้กู้ปิด ช.พ.ค/ธนวัฎ 105 คน (6.88%) กู้สู้ภัยโควิด 4.50% ชำระหนี้เดิม 1,168 คน (76.53%),ให้ความรู้เรื่องการใช้เงินครูบรรจุใหม่ 150 คน และเขตพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการ 70:30 กับครูทุกคน
สพม.พระนครศรีอยุธยา มีผู้ลงทะเบียนโครงการสถานีแก้หนี้จำนวน 34 คน โดยแหล่งเงินกู้สูงสุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู คิดเป็น 90.9% ซึ่งความประสงค์ของผู้เข้าร่วมโครงการนั้น เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง ลดค่าธรรมเนียมประกัน ลดยอดหนี้จากรายได้ในอนาคต สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อรีไฟแนนซ์ เป็นต้น โดยทางสถานีแก้หนี้ได้ดำเนินการติดต่อสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ มีการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการทราบ พร้อมให้ความรู้ทางการเงินและบริหารจัดการหนี้ โดยมีการอบรมผ่านโครงการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้สินครูร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อยู่พื้นที่ภาคกลาง ถือว่ามีหนี้สินครูเบาที่สุดจากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ มีปัจจัยสำคัญเนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า 6% และพื้นที่ภาคกลางนั้นมีสภาพเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งกว่าภาคอื่น ทำให้ครูหลายคนนำเงินกู้ไปลงทุนก่อให้เกิดรายได้และนำกลับมาใช้หนี้ได้ รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินภายนอกไม่มากนัก
อีกปัจจัยสำคัญคือ การควบคุมยอดหนี้โดยสถาบันการเงินทุกแห่งและผู้บังคับบัญชาเคร่งครัดให้ครูกู้เงิน โดยมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งช่วยให้การแก้ไขหนี้เป็นไปได้สำเร็จ
ทั้งนี้ อยากให้สถานีแก้หนี้ครูของพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดตัวอย่าง แสดงให้เห็นวิธีการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ขอชื่นชมสถานีแก้หนี้ครูจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูช่วยกันแก้ปัญหาได้ดีมาก ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกันส่วนกลางก็จะช่วยเจรจาเพื่อให้ค่าใช้จ่ายของครูลดลง เช่น การเจรจากับ กบข.เพื่อให้ครูกู้เงินสะสม เงินสมทบ เงินตอบแทน มาตัดยอดหนี้ให้ลดลง เป็นต้น และในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการเจรจากับธนาคารออมสิน ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องทำข้อตกลง MOU ให้ชัดเจน เริ่มจากต้นปีหน้า ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะกู้เงินโดยหักจากเงินเดือน จะต้องกู้กับสถาบันการเงินที่ทำ MOU กับ ศธ.หรือส่วนราชการเท่านั้น รวมถึงครูทั้งบรรจุใหม่และเก่าจะต้องเปิดบัญชีเงินเดือนกับสถาบันการเงินที่ทำ MOU ศธ.เท่านั้น ซึ่งหวังว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศจะร่วมมือกับ ศธ.เพื่อเป็นสถาบันการเงินที่เป็นสวัสดิการครูอย่างแท้จริง ต้องมีการทำ MOU ร่วมกัน มีนโยบายเดียวกัน เพื่อดูแลครูทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม













ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ณัฐพล สุกไทย / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น