เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงาน TEP Forum 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” ณ ห้องเมจิก 3 โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับทราบปัญหามาโดยตลอดในทุก ๆ ด้าน แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับทราบปัญหาพร้อมกับข้อเสนอทางนโยบายจากเวทีระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญ เพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย ได้แก่
- โรงเรียนพลังบวก : ความหวังปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่
- สร้าง/คัด/พัฒนาครูแบบไหน ให้ตอบโจทย์เด็กไทยทุกคน
- Beyond Schooling! การเรียนรู้แบบใหม่ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน
- Learning Recovery เปิดเรียนใหม่ การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม
- พ.ร.บ. พอหรือไม่ : กติกานโยบายแบบไหน จะพาการศึกษาไทยไปสู่อนาคต
ทั้งนี้ อาจจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที ศธ. จะนำไปศึกษาให้ตกลึก และสิ่งไหนเรื่องไหนที่สามารถทำได้จะทำในทันที รวมทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทราบว่ามีล่าช้า เนื่องจากเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ปัจจุบันนี้ไม่สามารถรอได้ ต้องเร่งเดินหน้าต่อไป
ขอขอบคุณการพูดคุยกับทั้ง 5 ท่าน 5 ข้อเสนอในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย อาจจะไม่ใช่ของทั้งประเทศ แต่ถือเป็นตัวแทนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตามต้องเรียนให้ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของตน ได้วางรากฐานการศึกษาไทยเพื่อไปสู่ศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัลด้วย Coding และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Science/ Technology/ Innovation) นับเป็นการปฏิรูปไปถึงตัวเด็กโดยตรง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต
โดยทุกนโยบายที่หน่วยงานในกำกับได้ขับเคลื่อน มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีความรู้ ความสามารถไม่แพ้เด็กชาติในโลก ศธ.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสมรรถนะนักเรียนให้มีมาตรฐานสากล อาทิ การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการสอบประเมิน PISA การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมในโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
สุดท้ายนี้ ศธ. จะรับทุกข้อเสนอเพื่อนำไปศึกษา และเร่งพัฒนาการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากที่สุดต่อไป












ใส่ความเห็น