ศธ.ออกประกาศแนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด

“ตรีนุช” ฟังเสียงผู้ปกครอง ประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. สั่งโรงเรียนยึดหลักคืนเงิน-ผ่อนผัน-ช่วยเด็กยากจน-ลดภาระผู้ปกครอง

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษา เข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนมากนั้น

ตนได้รับทราบปัญหาและมีนโยบายให้ต้นสังกัดของโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา และเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนก็ได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว

ในประกาศดังกล่าวระบุว่า อนุสนธิประกาศ ศธ. เรื่อง การเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กำหนดให้มีการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 และให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล โดยบางโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์จะจัดการศึกษาในรูปแบบ On Site หรือเรียนที่โรงเรียนได้ จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai StopCOVID Plus (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนนั้น ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว ประกอบกับมีโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นจากผู้ปกครอง

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน ศธ.จึงกำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับของ ศธ.ถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  2. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
  3. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ตามความจำเป็น เหมาะสม
  4. ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับ ให้ปฏิบัติตามประกาศนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น.

13 thoughts on “ศธ.ออกประกาศแนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด

Add yours

  1. การลดค่าเทอมในสภาวะการณ์เช่นนี้ โปรดเห็นใจและมีความเมตตา ผู้ปกครองทุกท่านด้วย เด็กๆต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ค่าใช้จ่ายที่ค้องเพิ่มขึ้น ได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง ประสิทธิภาพคงไม่ได้เท่าการเรียนรู้แบบเรียนสดๆกับครู ..ฝากท่านผู้บริหารพิจารณาลดค่าเทอมอย่างน้อยเป็นการข่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครอวได้อีกทางหนึ่ง..🙏🙏กราบขอบพระคุณค่ะ

    ถูกใจ

  2. นักเรียนอาชีวะได้ลดค่าเทอมไหมคะ หนูอยู่ปวช.3ค่ะแล้วเทอมนี้ต้องฝึกงานทั้งเทอมแต่ต้องจ่ายเทอมค่ะทั้งค่าบำรุง ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งหนูไม่ได้เข้าวิทลัยทั้งเทอมเลยค่ะ แล้วอีกอย่างค่ะค่าเทอมแพงขึ้นด้วยค่ะ ผู้ปกครองก็ทำงานลำบาก ถ้าไม่จ่ายค่าเทอมก็ติดล่าช้า โดนหักคะแนนอีกค่ะ

    ถูกใจ

  3. รร.นวมินท์ บดินทร3 ไม่ลดค่าเทอมครับ
    เดือดร้อนมาก ค่าเทอมห้องep ม.2
    เทอม ละ 38,000
    และให้เด็กเรียนออนไลน์

    ถูกใจ

  4. ในภาพรวมเป็นผลดีแก่ผู้ปกครอง แต่อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ ตามหนังสือ ดังนี้
    ข้อ1. “ให้คืนเงินในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน………” ฉะนั้นไม่คืนเงินในส่วนที่มีการจัดการเรียนใช่ไหม?
    ข้อ2. “กรณีที่ทีความจำเป็นต้องเก็บเงิน………อาจพิจารณาผ่อนผัน……..เป็นกรณีไป” หมายความว่า จะเก็บเงินก็ได้ แล้วพิจารณาผ่อนผันเป็นกรณี
    จากข้อ1.จะมีปัญหาที่ว่ามีกิจกรรมอะไรที่ไม่ได้จัด ที่จะจัด (คืน ไม่คืนเงิน)
    จากข้อ2. เรียกเก็บเงินเพื่อใช้จัดกิจกรรม แต่ก็ผ่อนผันได้ในบางกรณี
    ทั้ง 2 ข้อมีช่องโหว่เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจของแต่ละคน มีร.ร.อยู่ประมาณ30,000แห่ง มีการใช้ดุลยพินิจที่บิดเบี้ยวเพียง 30 แห่ง รมต.ก็ต้องชี้แจงสื่อมวลชน ไม่มีเวลาทำงานอื่นแล้ว

    ถูกใจ

  5. เรียกเก็บค่าเทอมเต็ม ศธ.ออกประกาศก็ยังไม่มีประกาศจากโรงเรียน

    1.ค่าสาธารณูประโภคสำหรับห้องปรับอากาศ ??
    2.ค่าการจัดเรียนคอมพิวเตอร์ เกินกว่าที่รัฐจัดหั้ย ??
    ค่านู่น นี่ นั่น เยอะไปหมดไม่ลดเรยทั้งที่เรียนออน์ไลน์ ค่าเน็ตก็ผู้ปกครองเปนคนจ่าย

    แต่โรงเรียนกลับไม่ช่วยผู้ปกครองลดภาระค่าใช้จ่ายมีแต่ได้กับได้ เพราะเป็นโรงเรียนดังเรยไม่ง้อ เด็กและผู้ปกครอง

    ถูกใจ

  6. สรุปคือจ่ายค่าเรียนไปแล้ว ยากค่ะที่จะได้เงินคืน ต่อให้เรียนออนไลน์ แต่ก็มีค่ากิจกรรม ค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าเน็ตความเร็วสูง และ…ฯลฯ

    ถูกใจ

  7. พึ่งเจอมาเลยค่ะ ดิฉันได้คุยขอทางร.ร.ว่าจะขอจ่ายค่าเทอมส่วนนึงก่อนได้ไหม ค่าเทอมมัน2,700แต่เรามีเงินสดยุแค่1,700ค่ะ เพราะเราขายของและรับสแกนพวกเราชนะ ม.33ค่ะเงินมันจะเข้าวันพุ่งนี้ขอจ่ายส่วนที่เหลือวันถัดไปได้ไหม
    “ทางร.รได้ตอบกลับมาว่าไม่ได้ค่ะถ้าผปค.ไม่พร้อมทางร.ร.จะให้สละสิทธค่ะและให้สิทธเด็กสำรองเข้าแทนคะมียุเยอะที่เค้าพร้อมคะ”
    คือพอได้ฟังคำพูดจากทางร.ร.ฝ่ายการเงินตอบกลับมาเราถึงกับน้ำตาไหลเลยจิงๆคะคือทำไมถึงใจร้ายจังเลยค่ะพูดแบบไม่ง้อไม่เห็นใจกันสักนิดเลยอ่ะ แต่เราก็พยายามหาตังมาให้ครบเลยค่ะเพราะกลัวลูกจะไม่มีที่เรียนค่ะ
    “เงินแค่2,700คนอื่นๆอาจจะดูว่าไม่กี่บาทเองแค่นี้ไม่มีเลยหรอแต่สำหรับเราคนหาเช้ากินค่ำขายของก็ไม่ดีด้วย แต่เงินแค่นี้ล่ะมันหายากมากในตอนนี้ค่ะ”
    (จ.สมุทรปราการค่ะ)เราจะไม่เอ่ยชื่อร.ร.นะค่ะ ขอบคุนมากค่ะ(ขอใช้พื้นที่นี้ระบายความในใจด้วยนะค่ะ)

    ถูกใจ

  8. โรงเรียนสัญลักษณ์ ดบ. ชื่อดังใน จ.นครพนมประกาศให้นักเรียนไปเรียนแบบ on site โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมโควิดค่ะ รวมทั้งเรียกเก็บค่าหนังสือ และค่ากิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมว่ายน้ำ. นอกจากนี้ ยังมีการขอใบเสร็จค่าชุดนักเรียนที่ผู้ปกครองใช้เงินส่วนตัวไปซื้อมาเองด้วยค่ะ ถ้าผู้ปกครองไม่นำไปให้หรือแค่สอบถามเพื่อความโปร่งใสว่านำใบเสร็จไปทำอะไร ครูก็แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน และเริ่มมีการกระทำที่กลั่นแกล้งค่ะ

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑