ศธ.ร่วมมือกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมการออม เพิ่มความมั่นคงทางการเงินแก่นักเรียนทั่วประเทศในอนาคต

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมมือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ส่งเสริมการออม เพิ่มความมั่นคงทางการเงินแก่นักเรียนทั่วประเทศในอนาคต เป้าหมายอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้มีตัวแทนกองทุนในสถานศึกษา เริ่มวางแผนการออมเพียงวันละ 1 บาท ครบ 50 บาทก็นำมาออมที่กองทุนได้ โดยรัฐบาลจะสมทบเงินเพิ่มให้ 50-100% ตามช่วงอายุ

(21 ธันวาคม 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมวินัยการออม โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.ต้องการให้นักเรียนได้รู้จักการออมเงินเพื่อวางแผนอนาคตตนเอง เพื่อความมั่นคงทางการเงิน และตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในเรื่องการรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวของประชาชนตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณในระดับพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้ตระหนักถึงการออมตั้งแต่วัยเรียน เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักจัดการเงิน รู้จักเก็บออม เริ่มจากการเก็บเล็กผสมน้อย สร้างนิสัยการออมเงินเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของอนาคต

ทั้งนี้ นักเรียนสามารถบริหารแบ่งเงินค่าขนมบางส่วนมาออม โดยเริ่มวางแผนออมเงินเพียงวันละ 1 บาท พอครบ 50 บาท ก็สามารถนำมาออมกับ กอช. รัฐบาลจะสมทบเงินเพิ่มให้ 50% ของเงินออม คิดเป็นเงิน 25 บาท สูงสุด 600 บาทต่อปี

ที่สำคัญยังได้ประโยชน์ถึง 4 ต่อ คือ

  • ต่อที่ 1 รับเงินสมทบจากรัฐบาล 50 – 100 % ตามช่วงอายุ
  • ต่อที่ 2 รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุน
  • ต่อที่ 3 ออมเงินตามความพร้อมของตนเอง ขั้นต่ำ 50 บาทต่อปี
  • ต่อที่ 4 สร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

หวังว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และจะพิจารณาบรรจุการออมเป็นรายวิชาเรียนส่วนหนึ่งในวิชาสังคมศึกษา ตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ความร่วมมือว่า สพฐ.ได้ร่วมกับ กอช.บูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการอบรมให้ความรู้แก่ครูโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ โดยนำร่องโรงเรียนในกรุงเทพฯ 119 โรงเรียน ให้ได้ตระหนักถึงวิธีการวางแผนทางการเงิน

ทั้งนี้ จะขยายผลการอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้มีการวางแผนออมเงินเพื่ออนาคตและสนับสนุนให้แต่ละโรงเรียนส่งเสริมการออมในสถานศึกษา และสมัครเป็นสมาชิก กอช. โดยมอบหมายให้มีตัวแทน กอช. ในแต่ละสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักเรียนอีกด้วย

เลขาธิการ กอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการออมให้ครอบคลุม ทั่วถึงประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จ บำนาญ ให้มีความมั่นคงทางการเงิน โดยรัฐบาลจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี
  • อายุมากกว่า 30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี
  • อายุมากกว่า 50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี

ในการนี้ กอช.ได้สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับสมาชิก เมื่อเทียบจากเงินฝากประจำที่ดีมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563) มีผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปื

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จึงได้มีการดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษา โดยดำเนินกิจกรรมที่สอดรับกับแผนการสร้างวินัยการออมและการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่กลุ่มนักเรียน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน และมีวินัยในการออม โดยมุ่งเน้นให้บริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ สมารถความรู้ไปขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สังคม ชุมชน ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

สาระน่ารู้เกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อวัยสูงอายุ ที่ให้สิทธิประชาชนสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภท ( ปัจจุบัน 38 ล้านคน และยังไม่มีสวัสดิการ 21 ล้านคน) ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ และแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน

ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ
ศตายุ วาดพิมาย / ภาพครู-นักเรียน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: