‘คุณหญิงกัลยา’ ลงพื้นที่ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ และ วษท.สงขลา ติดตามผล Smart Farm เลี้ยงกุ้งขาวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน

เสมา 2 ‘คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช’ ลงพื้นที่สงขลา ติดตามผล Smart Farm เลี้ยงกุ้งขาวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน แนะ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเตรียมเป็นศูนย์การการจัดการอาหารคุณภาพ

(13 พฤศจิกายน 2563) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการศึกษาวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา จังหวัดสงขลา

พร้อมด้วยนายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ, นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย รมช.ศึกษาธิการ, นายศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานติดตามและแผนงาน รมช.ศึกษาธิการ โดยมีนางสุรีพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นายสมชาย ท่าตะเคียน ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษา ให้การต้อนรับ

วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ : ร่วมกิจกรรมจับกุ้ง Smart Farm เลี้ยงกุ้งขาวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน

นายสมชาย ท่าตะเคียน ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้กุ้งทะเลอัจฉริยะครบวงจร วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ บริหารจัดการฟาร์มโดยใช้โมเดล “DREAM” คือ

  • D : Digital Direction
  •  R : Rearing with reserve checking system
  •  E : Environmental Friendly
  • A : Aquaculture
  • M : Management system

ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการฟาร์มกุ้งทะเลอัจฉริยะครบวงจรที่มีประสิทธิภาพ นำสู่การพัฒนาระบบดิจิทัลที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทำการเลี้ยงกุ้งปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นโดยดำเนินโครงการเลี้ยงกุ้งขาวปลอดภัย 1 ไร่ 1 ล้าน ในรูปแบบ Smart Farm วางแผนการผลิตพื้นที่บ่อขนาด 1.3 ไร่ โดย รมช.ศึกษาธิการและคณะได้เดินทางมาทำกิจกรรมปล่อยกุ้ง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 จำนวน 400 ตัว มีอัตรารอด 80% ซึ่งในรอบการเลี้ยง 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 ครั้ง รวมราคาการจำหน่ายผลผลิตทั้งหมด 1,322,710 บาท

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวชื่นชม ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ คณะอาจารย์และนักเรียนทุกคน ว่าสามารถทำได้ดีมาก หรือจะเรียกว่าทำเกินนโยบายด้วย จากที่เคยบอกไว้ว่าอยากเห็นผลิตภัณฑ์ทางทะเลในรูปแบบ from sea to table แต่วันนี้วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ทำได้ยิ่งกว่านั้น สามารถนำผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ไข่ปลา เนื้อปลา มาทำเป็นอาหารได้ทุกรูปแบบ และต้องชื่นชมการทำทวิภาคีกับบริษัทเอกชนที่ทำให้เด็กได้เรียนทางวิชาการและลงมือทำจนทำงานเป็น ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำ

ในการตรวจเยี่ยมวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ รมช.ศึกษาธิการและคณะ ได้ร่วมกิจกรรมจับกุ้งขาวเพื่อส่งเสริมการบริโภคกุ้งภายในประเทศ, เยี่ยมชม “ตลาดอาหารปลอดภัย ประมงติณฯ รวมใจสร้างเครือข่าย ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ตามนโยบายอาหารปลอดภัยต้านโควิด-19, ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย/น้ำจืด และการดำเนินงานของวิทยาลัย

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา : ย้ำเตรียมความพร้อมเป็นศูนย์กลางในการจัดการอาหารคุณภาพส่งหน่วยงานที่ต้องการ

จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยนางสาวชนม์ศิกานต์ แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สงขลา นำผู้บริหาร คณะครู นักศึกษา ให้การต้อนรับ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ วษท. หากมีศิษย์เก่ามาร่วมส่งเสริม ย่อมจะทำให้ วษท. นั้นมีความเจริญก้าวหน้า ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากกับการพัฒนาวิทยาลัยเกษตรในอนาคต ขณะที่การจัดการเรียนการสอนสำคัญที่สุดของ วษท.สงขลา คือสาขาช่างกลเกษตร เน้นให้เด็กซ่อมแซม ดูแลเครื่องจักรกลไกของการเกษตร นับเป็นลักษณะที่พิเศษที่โดดเด่นกว่าที่อื่น

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า วษท.สงขลา ทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรให้สอดคล้องกับโจทย์ของท้องถิ่นเป็นหลัก และร่วมกับภาคเอกชนขายผลิตภัณฑ์เกษตรให้กับชุมชน ทำให้เด็กได้เรียนรู้สาขาวิชาอาชีพต่าง ๆ แล้วยังมีคุณสมบัติของความเป็นพลเมืองที่ดี ทำงานเพื่อบริการให้กับสังคมด้วย

ขณะนี้เรากำลังจะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก NECTEC มาผลิตอาหารให้กับโรงเรียน และระยะต่อไปอาจขยายไปถึงเรือนจำหรือโรงพยาบาล โดยให้ วษท. เป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อจะส่งให้หน่วยงานที่ต้องใช้อาหารประจำทุกวัน

โดย วษท.จะเป็นศูนย์กลางในการจัดการเพื่อให้มีอาหารคุณภาพ ขอให้ลองวางแผนดูว่าเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นแล้วจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ตลอดจนช่วยให้เกษตรกรรายเล็กให้มีรายได้ มีแหล่งที่ส่งอาหารประจำมากยิ่งขึ้น

จากนั้น รมช.ศึกษาธิการและคณะ ไปเยี่ยมชมฟาร์มแผนกวิชาพืชศาสตร์และระบบน้ำอัจฉริยะ แปลงไฮโดรโปนิกส์ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฟาร์มแผนกวิชาประมง ฟาร์มแพะ ศูนย์การเรียนรู้นกเขาชวาเสียง และร้านกาแฟ Dove Café แผนกวิชาอุตสาหกรรมการเกษตร

ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: