ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียนนักศึกษา ศธ. เห็นชอบแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียน ข้อ 4 และ 7

(6 พฤศจิกายน 2563) กระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม เห็นชอบแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียน ข้อ 4 และ 7 นักเรียนไว้ผมยาว-สั้นก็ได้ ห้ามลงโทษกล้อนผมเด็ก พร้อมเปิดโอกาสให้แต่งกายตามเพศสภาพ ใส่ชุดอื่นตามข้อตกลงร่วมกัน และตั้งคณะทำงานเพิ่ม 3 ด้าน เพื่อแก้ปัญหาการละเมิด กฎระเบียบล้าหลัง และการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุม ดังนี้

ทรงผมนักเรียน

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบ ศธ. ว่าการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยมีข้อเสนอแนะแก้ไข 3 ประการ คือ

ประการแรก “บทนำหรือคำปรารภ” แก้ไขเป็น “การปรับแก้ระเบียบฯ การไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันให้มีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีการพัฒนาไปมาก และมีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น”

ประการที่สอง “การแก้ไขระเบียบข้อที่ 4” โดยมีการแยกไว้ว่า การไว้ทรงผมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมีบทบัญญัติที่แตกต่างกัน ในการแก้ไขครั้งนี้จึงให้มีการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และสะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศสภาพของนักเรียนได้อย่างชัดเจน ไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการดัดผม ย้อมสีผมให้ต่างไปจากเดิม ไว้หนวดหรือไว้เครา ยังคงเป็นข้อห้ามตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้เสียสมาธิในการเรียน

ทั้งนี้ ระเบียบข้อ 4 จะปรับแก้ไขใหม่ให้เป็นดังนี้

“ข้อ 4 นักเรียนจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย”

ประการที่สาม “การแก้ไขระเบียบข้อที่ 7″ ซึ่งมีจุดอ่อนในเรื่องการออกกฎระเบียบของโรงเรียนโดยไม่ต้องมีการปรึกษาหารือ จึงกำหนดให้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี

ก่อนดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง รวมทั้งเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในบริเวณสถานศึกษา หรือระบบสารสนเทศของสถานศึกษานั้น”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือทำความเข้าใจไปยังโรงเรียน คือ

  1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยใช้กลไกของสภานักเรียน เช่น ให้ผู้แทนสภานักเรียน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษา ตามข้อ 7
  2. ยกแนวปฏิบัติของโรงเรียนที่ดำเนินการมีส่วนร่วม เช่น โรงเรียนรัตนาธิเบศร์
  3. กรณีนักเรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ การลงโทษต้องคำนึงถึงสิทธิของนักเรียน และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ.2548 และกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดย ศธ.ไม่สนับสนุนการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ดังนั้นต่อไป “การกล้อนผมเด็ก” จะไม่สามารถกระทำได้

เครื่องแบบนักเรียน

ที่ประชุมได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ตามข้อเรียกร้องของนักเรียน คือ การแต่งกายตามเพศสภาพ ยกเลิกการแต่งเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี ซึ่งกรณีนี้มี พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำกับอยู่

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบที่มีอยู่มีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่บางโรงเรียนอาจยังไม่มีความเข้าใจ

ดังนั้น ที่ประชุมจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ขอให้มีความยืดหยุ่น โดยใช้ข้อ 15 และ 16 คือ

ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ได้ ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดเหมาะสม

ข้อ 16 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม และหากจะออกระเบียบใดเพิ่มเติม ให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครองก่อน

ตั้งคณะทำงานพิจารณาอีก 3 ด้านตามข้อเรียกร้อง

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเพิ่มเติม 3 คณะ โดยจะเสนอรายชื่อทั้ง 3 คณะให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาลงนามภายในสัปดาห์หน้า ได้แก่

  1. คณะทำงานด้านการละเมิด การกระทำความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา มีนายสรรพสิทธ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน และมีผู้แทน สพฐ. เป็นเลขานุการ
    โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการละเมิด การกระทําความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา
    2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิด การกระทําความรุนแรง และการประสบปัญหาด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  2. คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา มีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ. เป็นประธาน และมีผู้แทนปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับ กฏระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
    2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  3. คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนในสถานศึกษา โดยนายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา 2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียนนักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ มีผู้มีส่วนร่วมจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก “ศธ.360 องศา” ซึ่งเป็นการประชุมระบบเปิด ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานโดยการนำของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เพราะ ศธ.ได้เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ โดยอิงจากมติตัวแทนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อสังคม ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

อานนท์ วิชานนท์ /สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
สมประสงค์/ธนภัทร / FB Live และวีดิทัศน์

34 thoughts on “ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียนนักศึกษา ศธ. เห็นชอบแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียน ข้อ 4 และ 7

Add yours

    1. นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ผู้ใหญ่ได้ฟังเด็กๆในขณะเดียวกันเด็กนักเรียนก็ต้องฟังผู้ใหญ่เพราะภายใต้กฎกติกายืนอยู่บนความหวังดีที่ให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพไปในวันข้างหน้า

      ถูกใจ

    2. ดูจากความคิดเห็น ความจริงแล้วก็ความคิดของคนส่วนใหญ่แล้วนะครับ ว่าข้อที่7 ถึงทางกระทรวงจะปรับแล้วก็ตามแต่ก็ยังมีหลายโรงเรียนที่ไม่ทำตามกฎกระทรวงยังตั้งกฎขึ้นมาเองอีก แล้วครูยังมาบอกนักเรียนอีกว่าถ้าจะไว้ผมยาวให้ไปเรียนโรงเรียนอื่นแล้วผมถามหน่อยเด็กผู็หญิงหลายๆคนที่ต้องมาไว้ผมสั้นเท่าติ่งหูแต่พอเค้าเห็นเด็กโรงเรียนอื่นไว้ผมยาวแต่เค้าไม่ได้ไว้เค้าก็อยากไว้ พูดถึงที่ว่าอยากไว้ผมยาวให้ไปเรียนโรงเรียนอื่นคิดว่าผู้ปกครองของเด็กหลายๆคนจะยอมมั้ย ? กฎใหม่ของกระทรวงข้อ 4และ 7 ที่ให้นักเรียนไว้ผมสั้ยหรือยาวก็ได้โดยที่โรงเรียนไม่ขัดแย้ง ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงได้ออกมาทำตามข้อเรียกร้องของนักเรียนก็จริง แต่บางโรงเรียนก็ยังไม่ทำตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ดูเหมือนว่ายังไงนักเรียนก็ต้องมีการเรียกร้องอีก ผมคิดว่าทางกระทรวงควรรีบแก้ไขนะครับ
      !!!!!!!! ทำเอกสารเกี่ยวกับทรงผมแจ้งไปทางโรงเรียนต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทยไม่น่าจะใช่เรื่องอยากหรอกนะครับ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาผมเห็นเด็กหลายๆคนต้องอยู๋ในกฎที่เดิมๆ
      แต่ในเรื่องของชุดนักเรียนที่มีเด็กเรียกร้องว่าขอใส่ชุดอื่นไปผมคิดว่าชุดนักเรียนนั้นแหละดีแล้วเพราะข้อเสียหลายอย่างมันเยอะมากกว่าทรงผมอีก ในเรื่องของชุด เราควรให้นักเรียนเรียกร้องตามความเหมาะสมไม่ใช่คุณให้เค้ามากไปหรือน้อยไป ส่วนนักเรียนคุณก็ต้องเรียกร้องในสิ่งที่สมควรและคำนึงถึงเพื่อนๆคุณด้วยในเรื่องชุดนักเรียนเท่านั้นนะครับ สุดท้ายก็คือฝากถึงทระทรวงคุณต้องควบคุมบุคลากรของคุณ พวก ผอ ครู ให้ได้ก่อน คุณถึงจะควบคุมนักเรียนได้ ขอบคุณครับ

      ถูกใจ

      1. รร.เทศบาล5เด่นห้า57000 ครูได้ทำการตัดผมนักเรียนโดยมีข้อเสนอว่าถ้าไม่ให้ตัดจะให้หักคะแนนความประพฤติ และก่อนที่จะตัดผมนักเรียน1-2วันจะทำการเก็บเงินนร.ที่ไม่ตรงตามที่ครูต้องการก่อนถึงวันตรวจจริง กฎของรร.นี้คือไว้รองทรงสูงสั้นสุภาพไม่เกิน4เซน. แต่นักเรียนตัดมาแล้วก็ยังทำการตัดผมของนักเรียนอยู่ดี หากว่านักเรียนจะทำการโต้กลับครูครูก็จะพูดว่า”เธออยากเรียนต่อไหม”ทำให้นักเรียนไม่อยากแสดงความคิดเห็นหรืออธิบายไดๆก็ตามพอนร.ขี้เกียจมีปัญหาเรื่องทรงผมนักเรียนจะตัดสกินเฮดครูก็จะพูดว่า”เธอประชดครูเหรอ”ทำให้นักเรียนไม่มีทางออกในเรื่องทรงผมจึงตัดได้แค่ทรงนักเรียนเท่านั้นอยากจะให้ช่วยตรวจสอบหลายฟรี.ที่ยังไม่ทำตามกฎกระทรวง

        ถูกใจ

  1. นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ผู้ใหญ่ได้ฟังเด็กๆในขณะเดียวกันเด็กนักเรียนก็ต้องฟังผู้ใหญ่เพราะภายใต้กฎกติกายืนอยู่บนความหวังดีที่ให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพไปในวันข้างหน้า

    ถูกใจ

  2. 1/เรื่องทรงผม

    ต้องบอกทุกโรงเรียนนะครับบางทีบางโรงเรียนไม่เห็นด้วยไม่สนใจกฎระเบียบของกระทรวง ตั้งกฎขึ้นมาเอง พอมีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้น ผมได้ไปพูดกับครูในโรงเรียน ครูเกือบทุกคนไม่สนที่ผมพูด แถมยังเอาผมไปเม้ากันอีก ไปบอกทั้งโรงเรียน ผมพึ่งอยู่แค่ ป.6เองนะครับ จะให้ผู้ปกครอง และครู นักเรียนในโรงเรียนเชื่อกันทุกคนก็ไม่ได้ แค่เรื่องทรงผมอ่ะครับ​ เคยเขียนไปยื่นให้ดูแล้ว ก็มีประเดน ในโรงเรียน ผมอยู่โรงเรียนรัฐบาล​ก็จริงอยู่แค่ป.6เอง

    2/เรื่องลงโทษ​เด็กนักเรียน

    ครูทุกคนตีเด็กหมดในโรงเรียนผม คือไม่เข้าใจอ่ะครับตีทำไม ทั้งๆที่ครูเขาก็รู้กฎหมายดี รู้กฎกระทรวงดี ทำไมยังทำผิดกันอยู่ ผมเอาใบเกี่ยวกับทั้ง2เรื่องนี้ไปให้ครูดู เหมือนกับขอ1เลยครับ เอาไปเม้า ไปพูด แล้วอีกอย่างนะครับ ตอนมีประชุม ผู้ปกครองมาแล้วครูทุกคนยังไงก็ต้องถามผู้ปกครองว่าลงโทษได้มั้ย ผู้ปกครองทุกคน​ตอบว่าได้ ถามจริงนะครับ ไปถามอย่างนี้คิดว่าผู้ปกครองเขารู้กฎหมายดีหรอครับ เขายังไม่รู้เลย แล้วผู้ปกครองเขายังไม่รู้เลยว่าครูลงโทษยังไง ครูบางคนตีนักเรียนเลือดชํ้าใน มือแดงไปหมดแล้วเด็กก็ไม่กล้าไปบอกผู้ปกครองด้วยกลัวผู้ปกครองมีเรื่องกับโรงเรียน

    3/เรื่องการเอาเงินเด็ก

    เรื่องนี้ห้องผมโดนน่าจะทั้งห้องครูบางวิชาเอาเงินเด็กโทษฐานที่เด็กไม่เอาหนังสือมาเอาสมุดมา แล้วเพื่อนผมบางคนมีเงินอยู่100ครูเอาไปหมดเลยเพราะไปซื้อสีให้เด็กที่โดนยึด เพราะว่าชอบไปยืมสีเพื่อนใช้ แค่นี้เอง

    อยากจะบอกนะครับให้กระทรวงกระจายข่าวให้หมดทุกโรงเรียนให้ทุกโรงเรียนทำตามกฎหมายและกฎกระทรวงบ้าง ขอบคุณ​ครับ​

    ถูกใจ

  3. ผมว่ายังไงปัญหาก็ไม่จบครับ ถ้าข้อ 7 ยังคงอยู่สุดท้ายอำนาจก็อยู่ที่โรงเรียนเช่นเดิม ไม่ได้อยากจะเรียกร้องทุกอย่างนะครับ แต่อยากให้มองเห็นนักเรียนเป็นคนด้วยกันเท่าเทียมกันสักที

    ถูกใจ

  4. โรงเรียนหนองหัวช้างวิทยา อำเภอ พรเจริญ จังหวัด บึงกาฬ 38180
    ให้นักเรียนตักรองทรงสูงแต่พอตัดมาครูกลับบอกว่ามันยาวถ้าไปตัดอีกก็ไม่ต่างจากทรงนักเรียครูบอกว่าห้ามผมนอนให้ผมตั้งถึงจะได้ถ้าไม่ตัดก็ไม่ได้บัตรเข้าห้องสอบพอพวกผมถามถึงกฎกระทรวงครูกลับบอกว่าที่นี่ไม่ใช่กระทรวงที่นี้คือโรงเรียนพวกผมจะสอบในวัน11-13พฤศจิกายน พศ.2563 นี้
    พวกผมต้องทำยังไงครับไม่มีใครช่วยได้เลย ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากครับ

    ถูกใจ

  5. กฏนี้คือ ควบคุมไปถึงทางวิทยาลัยเทคนิคต่างๆมั้ยครับ เพราะวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ เขายังมีกฏระเบียบ ถ้าไม่ทำตามกฏระเบียบเขาก็ตัดผมนักศึกษา คือผมอยากทราบว่า นักศึกษา ปวส เขากำหนดให้ไว้ผมได้ยาวแค่ไหนและต้องตัดผมทรงอะไรครับ และอาจารย์ ยังสามารถตัดผมนักศึกษาได้อยู่มั้ย ช่วยชี้แนะด้วยครับ

    ถูกใจ

  6. กางเกงขาสั่น. และกระโปรงนักเรียน. ในช่วงฤดูหนาวแม้จะไม่กี่เดือน. ควรหาแนวทางปรับเปลี่ยนเพื่อให้ลูกหลานอบอุ่นครับ

    ถูกใจ

  7. ผใเคยยื่นเรื่องไว้ทรงผมไปเเล้วครั้งนึงเเต่ผลที่ได้คือ ไม่มีอะไรเปลียนเเปลงไปเลยเเละปัดตกเรื่องที่ผมเรียกร้อง รร. นั้นไม่ได้ทำตามกฎกระทรวงเลยเเม้เเต่น้อย

    ถูกใจ

  8. ข้อ7มันขัดใจมากเลยครับ การที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆกลับไปฟังความคิดเห็นของคนเก่าๆเป็นที่ตั่ง เรียกได้ว่าที่ออกกฎให้ไว้ผมยาวไม่มีประโยชน์เลยครับ เราควรเอาเงินค่าตัดผม ไปทำรายงานดีไหม?

    ถูกใจ

  9. ข้อ7เป็นข้อขัดใจมากๆเลยค่ะ ควรเด็ดขาดในการไว้ผมของแต่ละบุคคลเพศสภาพ และบุคลิกภาพของตัวนักเรียนเอง แต่อยู่ภายใต้กาลเทศะในการเป็นนักเรียนค่ะ เพราะในตอนนี้ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ทำตามกระทรวงเลย

    ถูกใจ

  10. เพื่อนผมตัดสกินเฮดมา อาจารย์บอกว่าไห้ไปตัดทรงนักเรียน คือมันเกินไปไหมครับ ทนไม่ไหวแล้วกับกฎแบบนี้ ตัดทรงอะไรก็ไม่ได้นอกจากนักเรียน
    โรงเรียน ป้อมนาคราชสวาทยานนท์ จ.สมุทรปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ครับ
    เห้อน่าเบื่อกับเรื่องทรงผม

    ถูกใจ

  11. ท่านครับผมขอร้องล่ะข้อ7เอาให้มันเคร่งครัดกว่านี้หน่อยไม่ได้ได้ผลกับโรงเรียนผมหรอกเขาไม่ฟังคุณครูหัวโบราณ ผู้อำนวยการโรงเรียนก็หัวโบราณเช่นกันเเทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยขอร้องจากใจช่วยทำหนังสือให้เด็ดขาดไปเลยว่าไว้ผมยาวได้ทุกโรงเรียนแต่ให้อยู่ในความเหมาะสมไม่รกจนเลยตีนผม
    ทุกวันนี้ผมยังไว้ผมยาวอยู่และมีรุ่นพี่ก็ไว้ยาวแบบผมบางคน พวกผมต้องมาคอยหลบรองทุกวันผมขอแค่นี่แหละขอบคุณครับ จากโรงเรียนอรหัสประเทศ จ.สระแก้ว

    ถูกใจ

  12. หนูขอถามค่ะในฐานะที่หนูเป็นเด็กมัธยมต้นเราสามารถที่จะทำผมหยิกเเล้วมัดเเบบเรียบร้อยนี่ผิดกฏระเบียบที่ตัั้งไว้ไหมคะ¿

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑