เสมา 2 ลงพื้นที่ราชบุรี “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” แนะแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลาก ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

(4 ตุลาคม 2563) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษา​ธิการ​ เป็นประธานการประชุมติดตามรับฟัง และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินงาน “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ร่วมกับนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมแม่กลอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

จังหวัดราชบุรี มอบหมายให้ส่วนราชการสรุปผลการดำเนินงานและแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรวม 4 ประเด็น ได้แก่

  1. การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในจังหวัดราชบุรีไหลลงคลองสาธารณะลงสู่แม่น้ำสาขาต่าง ๆ โดยกำหนดมาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกรลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก รวมถึงสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ขณะที่ล่าสุดจังหวัดราชบุรีร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกันหาแนวทางและจัดทำข้อมูลแก้ไขปัญหาน้ำเสียระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว และมูลค่าความเสียหายในพื้นที่ ส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตลอดจนเพิ่มสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลองร่วมเป็นคระกรรมการอำนวยการและติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในภาพรวมของจังหวัดราชบุรีด้วย
  2. การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดบุกรุกที่ดินการรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างทางรถไฟรางคู่ 3 ชุมชนในพื้นที่เทศบาลเมือง และเทศบาลเมืองบ้านโป่ง โดยประสานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์กรมหาชน (พอช.) เพื่อให้ความช่วยเหลือตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่ง รมช.ศึกษาธิการ จะประสานกับ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวกับงบประมาณการสร้างบ้านมั่นคง
  3. การแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวน้ำหอมตกต่ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 จังหวัดราชบุรีได้เชิญตัวแทนเกษตรกรและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยสนับสนุนการบริโภคมะพร้าวน้ำหอมภายในประเทศให้มากขึ้น เน้นการจำหน่ายแบบเป็นผลอย่างมีคุณภาพ ส่วนมะพร้าวที่มีตำหนิเน้นให้มีการแปรรูปเป็นน้ำและเนื้อก่อนจำหน่าย ดำเนินการให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในการจดทะเบียนคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า และส่งเสริมการปลูกมะพร้าวแกงพันธุ์ชุมพร 2 ทดแทนเพื่อลดการปลูกมะพร้าวน้ำหอม นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานราชการจัดหาวิธีสนับสนุน หรือเจรจาต่อรองกับประเทศผู้นำเข้ามะพร้าวน้ำหอมที่ต้องผ่านมาตรฐาน USDA และมาตรฐาน EU เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน 100,000 บาท/แปลง ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเสนอขอมาตรฐานได้ ซึ่ง รมช.ศึกษาธิการ จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
  4. ปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำหลากในพื้นที่ อ.ปากท่อ และ อ.สวนผึ้ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบในช่วงฤดูแล้งไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม เมื่อถึงฤดูฝนก็ได้รับผลกระทบจากน้ำหลากทำให้พื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตของประชาชนเสียหาย

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างดี ส่วนปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำหลากนั้น เห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี จึงควรใช้วิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในสถานศึกษานำร่องจำนวน 5 แห่ง เพื่อจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน​ ส่งผลให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังสามารถป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูฝนได้ และยินดีแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับจังหวัดราชบุรี พร้อมแนะนำให้ศึกษาดูงานจาก “ชุมชนบ้านลิ่มทอง” อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ แก้วิกฤตน้ำแล้งน้ำหลากที่ยั่งยืน

ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า/ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: