(2 พ.ย. 2563) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา, นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ., นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการ กอศ., นางสุปราณี นฤนาทนโรดม รองเลขาธิการ ก.ค.ศ., นายธนากร ดอนเหนือ รองเลขาธิการ กศน., นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือรองเลขาธิการ กช. ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยนายสมรักษ์ ถวาย ศึกษาธิการจังหวัดพังงา นำคณะผู้บริหารและข้าราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ
รร.เยาววิทย์ อ.กะปง : ปลื้มครูเสียสละด้วยหัวใจ แนะจัดการสอน Unplugged Coding เตรียมทักษะที่จำเป็นสู่ยุคดิจิทัล
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ศธ.ได้รับโอนโรงเรียนยาววิทย์ จังหวัดพังงา จากสังกัด สช. มาเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 โดยจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมจำนวน 17 คน เป็นโรงเรียนประเภทอยู่ประจำ
สำหรับการจัดการเรียนการสอน เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจุดเน้นด้านการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะจัดการศึกษาที่ดีที่สุด ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีความมั่นใจ มีทัศนคติที่ดี มีใจเปิดกว้าง รู้จักการเอาใจใส่ผู้อื่น
ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมสนับสนุนทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรม ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เพื่อเป็นพื้นฐานให้นักเรียนนำไปเป็นแนวทางในการเลือกอาชีพ โดยเน้นการปฏิบัติจริงจากกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ และมีเครือข่ายความร่วมมือ จากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้รับทราบถึงการจัดตั้งโรงเรียนเยาววิทย์ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เด็กกำพร้ายากไร้ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมกลุ่มเสี่ยงได้รับภัยจากสังคมมาอยู่ในความดูแล ช่วยเหลือให้เด็กทุกคนหลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจนอย่างยั่งยืน มีความเป็นอยู่ที่ดี และเท่าเทียมในการศึกษา ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนทุกด้านในการรับมือกับอนาคตสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เข้าสู่อาชีพและสามารถดำรงชีวิตตนเองได้
นอกจากการเรียนหลักสูตรพื้นฐานและฝึกปฏิบัติอาชีพแล้ว อยากเสริมให้มีการจัดการศึกษา Unplugged Coding และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (STI) เพื่อเตรียมทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัล และสามารถนำไปปรับใช้กับทุกกลุ่มสาระวิชา และทุกกลุ่มอาชีพได้ รวมทั้งขอให้ผู้อำนวยการ ครู สร้างบทบาทในการสอนสิ่งที่เด็กอยากเรียน สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ประกอบกับจิตวิญญาณความเป็นครู จะทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะความรู้วิชาการและการใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของโรงเรียน และฟาร์มเกษตร พร้อมขอบคุณผู้บริหารและครูโรงเรียนเยาววิทย์ที่ดูแลเด็กตลอดเวลาด้วยหัวใจอันเสียสละ แม้จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลงก็ยังเต็มใจทำงานเพื่ออนาคตของชาติ ถือเป็นบุคคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพังงา อ.ตะกั่วทุ่ง : ปลื้มใช้ STI สร้างจุดแข็ง พร้อมจับมือเครือข่ายสร้างรายได้ครบวงจร
รมช.ศึกษาธิการ และคณะ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพังงา (วษท.พังงา) ซึ่งสภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีภูมิประเทศเป็นเนินเขา มีความลาดชันระหว่าง ประมาณ 90% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมมีความยากลำบากกว่าพื้นที่ราบทั่วไป
วษท.พังงา มีเนื้อที่ทั้งหมด 939 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา เป็นพื้นที่ภูเขาลาดชันประมาณ 456 ไร่ ซึ่งบริเวณนี้ยังคงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากสงวนไว้เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เนินซึ่งปรับตัดเนินดินสำหรับก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบ โรงเรือนงานฟาร์ม และพื้นที่สำหรับฟาร์มฝึกหัด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ผู้บริหารและครู วษท.ทุกคนล้วนมีความสามารถมาก ในการเปลี่ยนพื้นที่เหมืองแร่เดิมให้กลายเป็นสถานศึกษาทางการเกษตรอย่างปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นยังสร้างจุดแข็งให้ วษท.พังงา เช่น โรงเรือนปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) เข้ามาช่วย
โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือกับสถานประกอบการสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรสมัยใหม่ในวิทยาลัย ที่มีทั้งศิษย์เก่าของวิทยาลัย และภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน ประกอบกับวิทยาลัยมีพื้นฐานที่ดีอยู่เเล้ว จึงทำให้ วษท.พังงา สามารถจัดการเรียนได้อย่างครบวงจร จนกระทั่งนำผลิตไปจำหน่ายและแปรรูป สร้างรายได้ให้ผู้เรียน และยังเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกรระบบปิดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ











ภาพเพิ่มเติม
Facebook
ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
อธิชนม์ สลางสิงห์, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น