(2 พฤศจิกายน 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. รวมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายอาชีวศึกษายกกำลังสอง และสถานศึกษา Excellent ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) โดยมีนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้บริหารในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการศึกษาอาชีวศึกษายกกำลังสอง
รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการศึกษา “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” พร้อมมอบนโยบายการจัดการศึกษา แก่คณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องสำคัญของประเทศในขณะนี้ คือ การขับเคลื่อนอาชีวศึกษา เพราะประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ ต้องผลักดันให้อาชีวะมีความเข็มแข็งพร้อม ๆ กับการเรียนการสอนสายสามัญ เพื่อเตรียมความพร้อมให้การศึกษาเพื่อยกระดับรายได้และอาชีพของประชาชนทุกจังหวัด
ดังนั้น จึงต้องมาพูดคุยกันว่า ในจังหวัดของตนมีจุดแข็งอะไร เพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตรของแต่ละแห่ง ต้องการให้สายสามัญและสายอาชีพร่วมกันจัดการศึกษา แต่ต้องเน้นสายอาชีพให้มากขึ้น โดยลงทุนเรื่องเครื่องมือเพื่อให้เด็กมีความชอบและอยากเข้ามาเรียนอาชีวะให้มากขึ้น ส่วนสายสามัญจะไม่ทิ้ง แต่จะพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง หากทุกจังหวัดสามารถทำได้ จะเป็นการพัฒนาการศึกษาได้ทั้งระบบ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้เร่งพัฒนาการศึกษาให้รวดเร็วเป็น “ยกกำลังสิบ” เพราะนายกรัฐมนตรีให้ความหวังกับการศึกษาอย่างมาก ศธ.จึงได้ผลักดันนโยบายการศึกษายกกำลังสอง “ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ปลดล็อก” กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
อยากให้อาชีวศึกษากล้าปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยหลักสูตรใหม่ให้เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน สถานศึกษาอาชีวะต้องหาจุดเด่นของตนเอง ต้องกล้าที่จะตัดบางสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือยุบบางสาขา ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนได้ในอนาคต ภาษาอังกฤษของผู้เรียนอาชีวศึกษาจะต้องมีมาตรฐาน เด็กจะต้องสื่อสารได้ แม้เป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้เรียนอาชีวะมีศักยภาพด้านภาษาอย่างเต็มที่ จึงจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเทคนิคภาษาศัพท์เฉพาะวิชาชีพให้มากขึ้น
ส่วนการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงเป็นโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR เท่านั้น แต่ต้องดึงศักยภาพของภาคเอกชน เข้ามาสร้างความเข้มแข็งและความเข้มข้นให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาให้มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าแต่ละวิทยาลัยต้องการให้มีผู้เรียนจำนวนมาก เพราะอาจจะกังวลเรื่องการรับเงินอุดหนุนรายหัว ยืนยันว่าหากวิทยาลัยมีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ศธ.ต้องหางบประมาณมาให้วิทยาลัยไปพัฒนาตนเองต่อไป
สำหรับการสอนในระดับปริญญาตรีนั้น วิทยาลัยอาชีวะไม่จำเป็นต้องเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี หากบางแห่งไม่มีความถนัด หรือครูผู้สอนยังไม่มีความพร้อม ควรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้จัดการเรียนการสอนเหล่านี้
เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน “Excellent ด้านการบิน” ณ วิทยาลัยเทคนิคถลาง
รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหาร ศธ. ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและเยี่ยมชมการเรียนการสอนสถานศึกษา Excellent วิทยาลัยเทคนิคถลาง ซึ่งเป็น 1 ใน 6 วิทยาลัย ที่เป็น Excellent Center ทางด้านการบิน ที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อยู่ในระดับแนวหน้า พร้อมที่จะยกฐานะการเรียนการสอนให้หลักสูตรอาชีพทางด้านการบิน เป็นมาตรฐานสากลต่อไป













รวมภาพเพิ่มเติม
Facebook
อิชยา กัปปา / สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง / ภาพ