เลขาธิการ ก.ค.ศ. เผยความก้าวหน้าเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ วางกรอบ 4 ด้าน “ลดความซ้ำซ้อน-ขอผ่านออนไลน์-เน้นผลปฏิบัติงานครู-ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุง (ร่าง) หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ดำเนินการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ นั้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยปัญหาและเสนอแนวทางการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ และคณะอนุกรรมการจัดทำวิทยฐานะใหม่ โดยใช้กรอบแนวคิดของ รมว.ศึกษาธิการ คือ “ไม่เน้นการเขียนเอกสารผลงานวิชาการ แต่ให้พิจารณาจากการปฏิบัติจริง”

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินบุคคลภายในและต่างประเทศมาให้ข้อคิดเห็น ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่า การประเมินวิทยฐานะในอนาคต จะไม่เน้นการพิจารณาเอกสาร แต่จะเน้นผลการปฏิบัติงาน โดยวางกรอบแนวทางประเมินวิทยฐานะใหม่ไว้ 4 ข้อ คือ

  1. ลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน เช่น จะมีการประเมินวิทยฐานะของครูไปพร้อมกับเงินเดือน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA)
  2. นำระบบออนไลน์มาใช้ในการขอรับการการประเมิน ไม่ต้องยื่นเอกสารและกระดาษในการประเมินอีกต่อไป ขั้นตอนการยื่นประเมินจะเป็นมิตรกับครูมากขึ้น ซึ่งสถานศึกษาจะทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์โดยผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะมีวงรอบการประเมินตามระบบการเลื่อนเงินเดือน คือ เดือนเมษายนและตุลาคม
  3. ผลการประเมินต้องลงไปที่ผลการปฎิบัติงานของครู ซึ่งพิจารณาจากหน้างานของครู เช่น คุณภาพในห้องเรียน
  4. ผลการประเมินนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแค่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน แต่จะรวมไปถึงการคิดวิเคราะห์ให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึง Soft Skill และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในอนาคต

นอกจากนี้ เกณฑ์ใหม่จะบ่งบอกถึงการทำงานข้างหน้าว่าเราจะทำอะไร และจะมีการประเมินเป็นระยะ ๆ ต่างจากเกณฑ์ปัจจุบันซึ่งนำเรื่องที่ผ่านมามาจัดทำผลงานทางวิชาการ

ในส่วนของการคงวิทยฐานะของครู ได้กำหนดไว้ทุก 5 ปี เมื่อครบกำหนดคงวิทยฐานะแล้ว หากครูต้องการทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น เช่น ชำนาญการเป็นชำนาญการพิเศษ จะมีการพิจารณาประสิทธิภาพ (Performance) จาก 3 องค์ประกอบ คือ 1) คลิปการสอนที่ดีที่สุดของครู 2) แผนจัดการเรียนรู้ประกอบคลิปที่สอน 3) ผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยส่งผ่านระบบออนไลน์ และจะใช้เวลาพิจารณาผลการประเมินเร็วมาก ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น หากครูไม่ผ่านการประเมิน ก็สามารถส่งใหม่ได้

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะนำกรอบแนวคิดการประเมินวิทยฐานะใหม่ ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครู จากนั้นจะนำมาจัดทำเป็นหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ และประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะทันใช้ในปีการศึกษา 2564

บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์

15 thoughts on “เลขาธิการ ก.ค.ศ. เผยความก้าวหน้าเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ วางกรอบ 4 ด้าน “ลดความซ้ำซ้อน-ขอผ่านออนไลน์-เน้นผลปฏิบัติงานครู-ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”

Add yours

  1. ลดระยะเวลาการประเมินด้วยเถอะค่ะ เพื่อนที่เรียน ป.โท เขาผ่านทันเกณฑ์เก่าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เราไม่ได้เรียนยังมาติดเกณฑ์ใหม่ห่างเพื่อนออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ก็ทำงานเหมือนๆ กัน

    ถูกใจ

  2. ขอลดระยะเวลาจาก 5 ปี เป็น 3 ปี เถอะค่ะ เพราะน้องที่โรงเรียนเขาบรรจุทีหลังเรา ในปี 62 เขาได้ คศ.3 แต่เราได้ คศ.2 เพราะเขาเรียน ป.โท แต่เรากลับต้องประเมินอีก 5 ปี ยื่นประเมินแล้วก็ใช่ว่าจะผ่านหมดทุกคนน่ะค่ะ น่าสงสารและน่าเห็นใจกับครูผู้น้อยที่จะต้องรอเป็น ครู คศ.3 จนแก่เลยค่ะ

    ถูกใจ

  3. แล้วจะมีนโยบายไหนที่ช่วบุคลากรทางศึกษาที่สอนมาหลายสิบปีโดยที่ยังไม่บรรจุบ้างมั้ย นอกเหนือจากการสอบ การสอบวัดระดับครูก็เหมือนกับเด็กเวลาสอบไม่ผ่านไม่ใช่ว่าครูโง่ แต่สอบแล้วตกซ้ำซากจำเจ ไม่ผ่านการบรรจุ เงินเดือนก็เท่าเดิม อยากทำนั้นทำนี้ สวัสดิการอะไรมันก็ไม่เท่ากับครูบรรจุ ขอบคุณที่จะเอาไปพิจารณาค่ะ

    ถูกใจ

  4. เห็นใจครูที่ยังไม่บรรจุค่ะ ควรพิจารณาตรงนี้ด้วย เช่น พนักงานราชการ บางท่านทำงานมา 10 ปีแล้ว ไปสอบก็ไม่มีชื่อ ควรบรรจุให้เขาด้วยนะคะ เขาก็เป็นครูที่รับใช้งานราชการมาเหมือนกัน ควรให้สวัสดิการเขานะคะ ขอบคุณที่จะนำความคิดเห็นไปพิจารณานะคะ

    ถูกใจ

  5. ขอให้มีเกณฑ์ออกมาแค่3ปีก็พอนะคะเห็นใจคนที่ได้ คศ.มานานเช่น10ปีแล้วทำเกณฑ์ใหม่อีก5ปีรวมเป็น15ปีกว่าจะได้ เห็นใจเถอะค่ะนานเกิน

    ถูกใจ

  6. เห็นด้วยค่ะ กับการที่ประเมินแบบใหม่
    ครูจะต้องบันทึกรายงานการปฏิบัติงาน PPR
    ครูจะได้รายงานการทำงานการลงมือปฏิบัติงานสอนของตนเองตามสภาพจริง ถ่ายทอดบรรยากาศการสอนจริงระหว่างครูกับนักเรียน ครูเตรียมสื่อ เตรียมการจัดประสบการณ์ ที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้นร.เกิดทักษะตามจุดประสงค์การเรียนรู้ หรือเปล่า ให้ท่านผู้ประเมิน สังเกตการสอนของครู ผ่านVDO ภาพถ่าย ดีกว่าจะมาให้คุณครูทั้งเตรียมการสอน ทั้งเตรียมเอกสารเพื่อรองรับการประเมินให้ยุ่งยาก ปล่อยให้ครูแสดงความสามารถใหการถ่ายทอดความรู้ให้ลูกๆนร.ผ่านภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ที่ครูรายงาน จากสภาพจริงใน แต่ละวันว่าครูเค้าต้องทำอะไรบ้าง
    *ชั่วโมงสอนตามตารางสอน
    *ชั่วโมงงานสนับสนุนการจัดการเรียนรู้
    *ชั่วโมงการมีส่วนร่วมในชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางสิชาชีพ(PLC)
    *ชั่วโมงงานตอบสนองนโยบายและจุดเน้น
    การงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่(3 ด้าน 13 ตัวบ่งชี้) ผ่านการบันทึก PPR ในแต่ละวันของครูทีเดียวไปเลยจบกระบวนการ
    แล้วท่านจะได้เห็นบรรยากาศการทำงานของครูตามสภาพจริง จริงๆเสียที ไม่ใช่ ยึดแต่ผลงานที่เป็นเอกสารรูปเล่มสวยงาม ที่ครูต้องไปจ้างเขาทำ เสียเวลา เสียเงิน เหมือนที่ผ่านๆมา ค่ะ

    ถูกใจ

  7. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีการ เชื่อมือท่านประวิต เอราวรรณ์ เห็นผลงานท่านเมื่อครั้งอยู่ มมส. เคยเรียนป.โทกับท่านมา เชื่อมือ

    ถูกใจ

  8. รอทำ ว.17 ปี 65 เเล้วจะมาต่อ ว.21 เกณฑ์ใหม่มานี้ยกเลิก ว.17 หรือไม่ ปรับตัวไม่ทัน สงสัย คศ.1 ยาวๆ ตามนโยบายรายปีไม่ทันจริงๆครับ

    ถูกใจ

  9. เห็นด้วยกับการปรับลดระยะเวลาการเลื่อนวิทยฐานะของครู เกณฑ์​นี้จะช่วยกระตุ้นให้ครูได้พัฒนาตนเองและกระตือรือร้น​มากขึ้น ข้อ 1-3 เห็นด้วยอย่างยิ่ง

    แต่ข้อที่ 4 ที่บอกว่า ต้องได้นับการประเมินเงินเดือนดีเด่นติดต่อกัน 4 ครั้ง ในส่วนนี้ไม่เห็นด้วยเลยค่ะ เพราะบางโรงเรียนไม่ได้มีการประเมินตามผลงานที่ครูแต่ละคนทำำ แต่เป็นการสลับสับเปลี่ยนกัน คนละ 1 รอบ แล้ววนไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ดีเด่น 4 ครั้งติดกัน

    ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์ข้อ 4 ออก เป็นอย่างอื่นหรือตัดออกไป พร้อมที่จะพัฒนาตนเองในอีก 3 ข้อ เพื่อลดปีในการประเมินค่ะ

    หรือไม่เช่นนั้น อยากให้มีการประเมินเลื่อนเงินเดือนโดยใช้บุคคลากรภายนอกที่ใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมิน ตัดสินตามความสามารถ​ของแต่ละบุคคลจริงๆค่ะ

    ถูกใจ

  10. ขออนุญาตนะคะ ดิฉันบรรจุตำแหน่งรองผู้อำนวยการ 14 ต.ค. 63 แต่ท่านกำหนดถึง 1 ต.ค 65 ซึ่งหมายความว่าความเป็นจริงแล้วดิฉันควรได้ยื่น ว.17 ในวันที่ 14 ต.ค. 65 ก็หมดสิทธิ์ทันที เพราะท่านเอาช่วงเวลามากำหนด การใช้ 1 ครั้งที่ท่านกล่าวว่าไม่มีใครกระทบไม่น่าใช่นะคะ เพราะเกณฑ์ ว.17 เดิมสายบริหารสถานศึกษา ยื่น คศ.2 ใช้เวลา 2 ปี ถ้าดิฉันหมดสิทธิ์ยื่นในวันที่ 1 ต.ค.65 ต้องเข้าเกณฑ์ใหม่ ว.PA ของท่าน ดินฉันต้องนับไปถึง 4 ปี ดิฉันไม่มีปัญหากับเกณฑ์ที่ท่านคิด มันลดภาระงานต่างๆ แต่ดิฉันได้รับผลกระทบจากห่วงเวลาการยื่นที่ท่านระบุวันสุดท้าย ขัดแย้งกับการบอกว่ามีโอกาสยื่นอีก 1 ครั้งของท่าน โปรดเห็นใจคนอื่นบ้างนะคะ คิดแล้วควรรอบครอบ ทุกคนทำงาน ทุกคนตั้งใจ ช่วยตอบดิฉันด้วย

    ถูกใจ

  11. และถ้ามีอายุมากๆครูที่ไม่เก่งคอมแต่เขาตั้งใจทำงานมีประสบการณ์มากกว่าเด็กรุ่นใหม่ๆครูรุ่นเก่าๆมีจรรยาบรรณมากกว่าครูสมัยนี้แยาะเลยเขาไม่ได้ผลิตลูกศิษย์เพื่อเงินเดือนแต่ผลิตเด็กๆให้มีคุณภาพจะทำอย่างไรคะถ้าใช้ระบบนี้ไม่เห็นด้วยคะ ต้องให้ดกาสคนรุ่นเก่าด้วยนะคะ

    ถูกใจ

  12. ควรยกเลิกการประเมินวิทยฐานะทุกกรณีค่ะ…ควรปรับตามอายุราชการไปเลยค่ะ ครูจะได้ไม่ต้องวุ่นวายใจในการทำและจะได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้
    เต็มที่ ดิฉันเป็นครูมา 11 ปี ไม่มีวิทยฐานะ ส่งตั้งแต่ปี 60 ปี 64 ยังไม่ผ่าน ชำนาญการ ตลอดเวลาที่เป็นครูมา ไม่เคยที่จะละเลยต่อการดูแลเด็ก แต่ ดิฉันคิดว่า ไม่ว่าจะเป็น ว.ไหน ก็บั่นทอนสุขภาพจิตของครูค่ะ

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Website Built with WordPress.com.

Up ↑