(9 ตุลาคม 2563) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน., นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการ กช. เยี่ยมชมโครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง โดยมี นายเอกรัฐ หลีเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก, นายพลีชีพ หลำหัส รักษาการ ผอ.ศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า “ป่าพรุ” เป็นศูนย์รวมพันธุกรรมทางธรรมชาติขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ความเข้าใจในธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในป่าพรุจึงเปรียบเสมือนประตูนำไปสู่ความรู้อันเป็นรากฐานทางวิชาการเกี่ยวกับพืชด้านต่าง ๆ อาทิ พืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตังหน สะเตียว หมากแดง, พืชสมุนไพร เช่น กูเราะปรียะ (ใช้เป็นยาแก้ปวด) ครี้ (ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ), พืชนำมาใช้เป็นอาหารได้ เช่น หลุมพี ผักกูด ปาล์มสาคู
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มสาคู สำนักงาน กศน. ได้ส่งเสริมพัฒนา และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปาล์มสาคู เพื่อต่อยอดไปเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากต้นปาล์มสาคูแทบทุกส่วนสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะแป้งที่สะสมอยู่ในส่วนลำต้นใช้นํามาประกอบอาหาร , ใบนํามาเย็บเป็นตับเพื่อใช้มุงหลังคาบ้านหรือกั้นฝาบ้าน ห่อขนม สานเป็นตะกร้า กระจาดหรือเสื่อ, ก้านใบย่อย ลอกเอาส่วนใบออกใช้ทําไม้กวาด, ลําต้น ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เพื่องานก่อสร้างหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และส่วนที่เหลือของลําต้นยัง สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ปัจจุบันในประเทศไทย การใช้ประโยชน์จากปาล์มสาคูได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ป่าสาคูลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อดี และมีความต้องการใช้ พื้นที่ป่าไปทําอย่างอื่น
ดังนั้น จึงควรมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากงานวิจัยที่เพิ่มมากขึ้น จากการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน โดยมีบุคลากร กศน. เป็นแกนนำในด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ปาล์มสาคูยังคงอยู่อย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมต่อไป
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการและคณะ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ และเยี่ยมชมป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นป่าพรุผืนสำคัญ ผืนสุดท้ายของประเทศไทย ปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 120,000 ไร่ (มีส่วนที่สมบูรณ์จริง ๆ ประมาณ 50,000 ไร่) ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอเมืองนราธิวาส โดยมีลูกเสือมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมฯ ของจังหวัดนราธิวาส นำเยี่ยมชม
ต่อมาเวลา 13.00 น. รมช.ศึกษาธิการพร้อมทั้งคณะ ลงพื้นที่ สำนักงาน กศน. และศูนย์วิทย์ฯ จังหวัดนราธิวาส โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ซึ่งจากการลงพื้นที่ รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวให้กำลังใจครูผู้ช่วย กศน. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) จำนวน 82 คน ให้ตั้งใจทำหน้าที่เป็นครูที่ดี ตอบแทนคุณแผ่นดิน และตอบแทนกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โอกาส อีกทั้งชมการนำสาคูมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบ (กรือโปะ) และตรวจเยี่ยมการดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องฉายดาว งบประมาณ 59 ล้านบาทอีกด้วย














อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ