สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ 2 ราย และเตรียมขอบัณฑิตจ้างงาน 10,000 คน เก็บข้อมูลในระบบ School Management System (SMS)
การแต่งตั้งข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ดังนี้
- นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
- เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ศธ.เตรียมขอบัณฑิตจ้างงาน 1 หมื่นคน เก็บข้อมูล
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายในกรอบวงเงิน 10,629.600 ล้านบาท แบ่งออกเป็นค่าจ้างงาน 60,000 อัตรา งบประมาณ 7,920 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 3,000 ตำบล จำนวน 2,400 ล้านบาท (800,000 บาท/ตำบล) และค่าบริหารจัดการโครงการ 309.600 ล้านบาท
เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา รวม 60,000 ราย ผ่าน 3 กิจกรรมที่สำคัญ คือ
- การจ้างงานตำบลละ 20 คน (จ้างนักศึกษา/บัณฑิตจบใหม่/ประชาชนทั่วไป) เพื่อดำเนินกิจกรรม ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การเฝ้าระวังประสางานและติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การจัดทำข้อมูลราชการในพื้นที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานเพื่อการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การสร้างและพัฒนา Creative Economy การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชนและการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม
- การสนับสนุนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมตามรูปแบบกิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่สถาบันอุดมศึกษารับผิดชอบ ตามบริบทของพื้นที่ให้แก่ชุมชน 3,000 ตำบล ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพ และการสร้างอาชีพใหม่ (ยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน)
- สนับสนุนการบริหารจัดการและการดำเนินการของ National System Integrator และ Regional System Integrator และการดำเนินการของ System Integrator เพื่อบูรณาการโครงการและข้อมูลในภาพรวมของการดำเนินการ
กลุ่มเป้าหมาย
- ประชาชน ในพื้นที่หรือใกล้เคียงที่ว่างงานและไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง จากหน่วยงานอื่นของภาครัฐและเอกชน จ้างในอัตรา 9,000 บาท/เดือน
- บัณฑิตจบใหม่ ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จ้างในอัตรา 15,000 บาท/เดือน
- นักศึกษา หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จ้างในอัตรา 5,000 บาท/เดือน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของตำบลเป้าหมาย
- เกิดการจ้างงานที่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
- เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอบัณฑิตจบใหม่จำนวน 10,000 คน เพื่อมาทำหน้าที่เก็บข้อมูลโรงเรียนในทุกมิติ ตามระบบ School Management System (SMS) ซึ่งเป็นระบบที่ทางภาคเอกชนที่ดำเนินการโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ได้พัฒนาขึ้น และอนุญาตให้ ศธ.ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ซึ่งขณะนี้มีการเก็บข้อมูลโรงเรียนไปแล้วประมาณ 3,000 แห่ง และจะนำบัณฑิตจากโครงการดังกล่าวมาดำเนินการเก็บข้อมูลโรงเรียนให้ครบ 30,000 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จทั้งหมด
จากนั้นจะนำข้อมูลโรงเรียนเชิงลึก ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลนักเรียน บุคลากร ชุมชน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นำมาวิเคราะห์และประเมินผลได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาโรงเรียน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ใส่ความเห็น