รมว.ศธ. หารือทูตสวิส ร่วมผลักดันศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา ในสาขาที่สวิสมีความเชี่ยวชาญ ประเดิมหลักสูตรการโรงแรมและการบริการ เริ่มเปิดก่อน 1-2 แห่ง พร้อมหนุนเชื่อมต่อหลักสูตรอาชีวะช่างเทคนิคนาฬิกา และวางแนวทางการขยายผลศูนย์ความเป็นเลิศหลักสูตรอื่นในระยะต่อไป
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังได้หารือถึงความร่วมมือด้านการศึกษา โดยนางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ
หลังเสร็จสิ้นการหารือ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้ครูต่างชาติเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และมาตรการด้านต่าง ๆ ขณะนี้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดทำการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบมานานกว่า 1 เดือน ซึ่งสถานศึกษาก็สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาไปในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการยกระดับการอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็ง
ซึ่งในส่วนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น มีหน่วยงานอาชีวะชื่อ Swiss Education Group ซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการอบรม และพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ซึ่งรวมถึงหลักสูตรด้านการโรงแรมและการบริการ ที่จะสอดคล้องกับการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellence Center) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำลังดำเนินการอยู่
ผมมีความยินดีอย่างยิ่ง หากทางสวิตเซอร์แลนด์ จะเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรด้านการโรงแรมและการบริการ โดยจะเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนในสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 1-2 แห่ง และวางแนวทางการขยายผลศูนย์ความเป็นเลิศในระยะต่อไป
เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย กล่าวว่า สวิตเซอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรและนักเรียนอาชีวศึกษา โดยได้พัฒนาหลักสูตร Technical Vocational Education and Training (TVET) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนอาชีวะอย่างรอบด้าน โดยนักเรียนสามารถนำทักษะเหล่านี้ มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง รวมถึงการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน จึงถือเป็นหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการร่วมพัฒนาการเรียนการสอนและจ้างคนเข้าทำงาน
ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellence Center) ของกระทรวงศึกษาธิการ มีความสอดคล้องกับการจ้างงานบริษัทสัญชาติสวิสในประเทศไทย ที่ต้องการกำลังคนเฉพาะด้านเข้าไปทำงาน เช่น ธุรกิจการทำนาฬิกา เป็นต้น
“ดิฉันจึงยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผู้เชี่ยวชาญกับประเทศไทย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น” นางเฮเลเนอ กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิกฤต COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวสวิสในประเทศไทยลดลง และประสบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยของครูชาวสวิส โดยครูชาวสวิสพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และมาตรการด้านสาธารณสุขในการเดินทางเข้าประเทศไทย




ภาพ/ข่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี
ใส่ความเห็น