สําหรับใครที่ยังไม่ได้รับฟังผ่าน Live หรืออยากเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เราสรุปมาให้แล้ว มาดูกันว่าจะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เป็นการศึกษายกกําลังสองได้อย่างไร

วิกฤต Covid-19 ที่โจมตีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยอย่างไม่ทันตั้งตัว ทําให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบการศึกษาไทยที่เน้นการเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นหลัก ทําให้รับมือกับสถานการณ์ไม่ปกตินี้ได้ยาก
แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขที่สามารถรับมือวิกฤตครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เกิดจากกระบวนการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในด้านสาธารณสุขที่ดี ฉะนั้นหากสามารถพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาได้เหมือนการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข ประเทศไทยจะมีบุคลากรในสายงานอื่น ๆ ที่เก่งขึ้นเช่นกัน

สรุปคือ การศึกษาแนวทางใหม่ ต้องการสร้างทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศ สร้างให้ประชาชนชาวไทยทุกคนประสบความสําเร็จในอาชีพที่ตนเองต้องการ เมื่อประชาชนทุกคนประสบความสําเร็จ ประเทศก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

ที่ผ่านมา ความเท่าเทียมทางการศึกษาถูกยกให้เป็นประเด็นสําคัญ จึงมีการเพิ่มโรงเรียน เพิ่มอุปกรณ์การเรียนการสอนมากมาย แต่ในยุคที่ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป ความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป การศึกษาต้องเน้นคุณภาพและเน้นการสร้างความสามารถให้กับผู้เรียน โดยเปลี่ยนจากการเพิ่มจํานวนเป็นเพิ่มคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ Demand และ Supply ที่เปลี่ยนไปให้ได้
จากเดิมที่แบ่งโครงสร้างการศึกษาไทยออกเป็น 2 ส่วนคือ การศึกษาภาคบังคับโดยรัฐ และการศึกษาภาคสมัครใจโดยเอกชน ถึงเวลาแล้วที่ต้องปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ร่วมกันยกกําลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ให้นักเรียนมีตัวเลือกในการเรียนรู้มากขึ้น

กลไกขับเคลื่อนที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมพร้อมเพื่อการยกกําลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ประกอบด้วย
- ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC)
- แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP)
- แผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Excellence Individual Development Plan : EIDP)
ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาการศึกษาแล้ว ในอนาคตจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ด้วยการ Upskill และ Reskill ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้

1 HCEC หรือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยความเป็นเลิศ มีสองส่วนคือ HCEC ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีไว้สําหรับพัฒนาวิชาชีพครู และ HCEC ของวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาวิชาชีพที่ตลาดต้องการ

HCEC ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.
- เพื่อให้ครู 400,000 กว่าคน ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้ที่ทันสมัยมีมาตรฐานระดับโลก
- เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อให้ประเทศได้ครูเก่งไปพัฒนาให้เด็กเก่ง
โดยในปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายที่จะร่วมกับภาคเอกชนที่มีความสามารถจัดตั้ง HCEC ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จํานวน 82 ศูนย์ ก่อนจะเพิ่มเป็น 185 ศูนย์ในปี 2564

HCEC ของวิทยาลัย
- เพื่อให้นักเรียนอาชีวะกว่า 1,000,000 คน ได้ทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด
- เพื่อให้ภาคเอกชนได้บุคลากรคุณภาพที่พร้อมทํางาน
- เพื่อให้อาชีวศึกษาได้ยกระดับภาพลักษณ์ที่ดี
- เพื่อให้ประเทศได้ทรัพยากรบุคคลที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์
โดยในปี 2562 สอศ. จะร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้ง HCEC ของวิทยาลัยขึ้น จํานวน 21 ศูนย์ และจะเพิ่มเป็น 100 ศูนย์ในปี 2564
2 DEEP หรือแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ คือ แพลตฟอร์มหลักในการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศ ซึ่งนําเอาความรู้ที่มีอยู่มากมายมาจัดระเบียบให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และตลาด โดยเปิดกว้างให้ภาคเอกชนผู้และพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ที่ต้องการสร้าง Impact ทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ช่วยให้ :

- ลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนนับล้านคนได้มีทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีผลการเรียนที่ดี
- ครู และ ผอ.ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เตรียมพร้อมต่อการเติบโต
- ทุกคนได้มีบันทึกการเรียนรู้รายบุคคลที่ไปต่อยอดการประเมินได้

ที่สําคัญคือมี Student ID ที่จะบันทึกข้อมูลการเรียนรู้ของแต่ละคน เพื่อนําไปพิจารณาเพื่อประเมินได้
3 EIDP หรือแผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ คือการเปลี่ยนวิธีวัดผล และสร้างต้นแบบการพัฒนาศักยภาพบุคคล โดยจะมีทั้งแผนพัฒนานักเรียน แผนพัฒนาครู และแผนพัฒนาผู้บริหาร ให้ทุกคนประสบความสําเร็จในรูปแบบที่ต้นเองต้องการ

เป้าหมายคือ เด็กทุกคนต้องค้นพบตัวเองเร็วที่สุด เพื่อให้มีโอกาสประสบความสําเร็จมากขึ้น ครูต้องมีการพัฒนาและพัฒนาตัวเองให้เป็นครูที่เก่ง ผู้บริหารต้องเข้าใจครูและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีคุณภาพ ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

แผนพัฒนานักเรียน
- มีหลักสูตรพัฒนาฐานสมรรถนะของนักเรียน
- มีแผนพัฒนานักเรียนเพื่อความเป็นเลิศรายบุคคล
- ลดการสอบของนักเรียน
แผนพัฒนาครู
- มีหลักสูตรพัฒนาศาสตร์การสอนของครู
- มีแผนพัฒนาครูเพื่อความเป็นเลิศรายบุคคล
- ลดงานเอกสารของครู
แผนพัฒนาผู้บริหาร
- มีหลักสูตรพัฒนาความเป็นผู้นําสําหรับผู้บริหาร
- มีแผนพัฒนาผู้บริหารทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศรายบุคคล
- เตรียมความพร้อมให้ผู้บริหาร

ที่สําคัญคือมีการจัดทํา “คู่มือมาตรฐานโรงเรียนเพื่อความเป็นเลิศ” เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานกลางเดียวกัน ในขณะเดียวกันผู้บริหารสถานศึกษาก็มีโอกาสกําหนดทิศทางว่าอยากให้โรงเรียนมีความเป็นเลิศทางด้านไหน อาจจะเป็นทางด้านวิชาการ หรือทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของโรงเรียนนั้น ๆ

รมว.ศธ. “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละบุคคล แม้จะทราบดีว่ายังมีเงื่อนไขและปัญหาอีกมากมายที่รอให้แก้ไข แต่เราจะผ่านไปได้ ด้วยการร่วมมือของทุกฝ่าย ถึงแม้จะไม่ง่าย แต่ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าลงมือทำจริง
สิ่งสำคัญจึงจำเป็นต้อง “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง” เพื่อยกกำลังสองการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ

ปลดล็อก: สร้างกลไกขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วน นำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม จับมือเป็นรูปธรรม เพื่อปฏิรูปการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน เกิดการทำงานร่วมกันง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดของกระบวนการต่าง ๆ ลง เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยกันบริหารการศึกษาของประเทศได้ลึกและกว้างขึ้น

ปรับเปลี่ยน: จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดเส้นทางการเรียนรู้และอาชีพ เพื่อความเป็นเลิศตามแบบฉบับของตนเอง ปรับเปลี่ยนระบบการเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ในด้านการศึกษาด้วย คัดคนเก่งเข้ามาเป็นครู เพราะเมื่อครูเก่งก็จะสอนนักเรียนให้เก่งได้

เปิดกว้าง: การบริหารจัดการสถานศึกษา โดยต่อยอดจากมาตรฐานด้านคุณภาพ เพื่อนำพาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศตามบริบท ซึ่งได้จัดทำ “คู่มือมาตรฐานโรงเรียน” เพื่อกำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศมีมาตรฐานสอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรือโรงเรียนที่อยู่ในชนบท ก็ต้องมีความเป็นเลิศที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน ในส่วนของวิทยาลัยต้องเปิดกว้างเพื่อความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เน้นเรื่องของวิชาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้จบมาแล้วมีงานทำตรงกับที่ตลาดต้องการ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : รายงาน
ใส่ความเห็น