เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามทั่วไป เรื่อง ขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โรงเรียนเอกชนนอกระบบอย่างเท่าเทียม ไม่ลักลั่น โดยไม่เหมารวมว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบนั้นมุ่งแสวงหากำไร ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา
รมช.ศึกษาธิการ ได้ตอบกระทู้ถามว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนเอกชน ทั้งโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบมาโดยตลอด โดยโรงเรียนเอกชนนอกระบบนั้น มุ่งเน้นให้เกิดการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และสร้างเสริมการพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ในยุค 4.0 ให้ผู้เรียนมีทักษะที่หลากหลาย รอบรู้รอบด้าน รองรับทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถพัฒนาตนเอง เสริมสร้างทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ การสร้างคนให้มีงานทำ รวมถึงสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ซึ่งยังมีโรงเรียนเอกชนนอกระบบอีก 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทศิลปะและกีฬา ประเภทวิชาชีพ ประเภทกวดวิชา และประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต ที่ไม่ได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นอย่างเดียวกันกับโรงเรียนนอกระบบในประเภทอื่น เมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการจัดการศึกษาเอกชน ก็ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการดำเนินงานให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นรับฟังปัญหาของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ และหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งหมด เพื่อนำมาสู่แนวทางการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ภายหลังรับตำแหน่งเพียงไม่นาน ได้มอบนโยบายให้ สช. มีหนังสือถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ได้ปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราร้อยละ 90 ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 โดยมีเหตุผลและความจำเป็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางด้านภาษี เป็นการเพิ่มต้นทุนในการจัดการศึกษา ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมทางการศึกษาสูงขึ้นและจะเป็นภาระต่อประชาชน จึงเห็นสมควรที่จะส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพให้กับเยาวชน และช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภทให้ได้รับความเสมอภาคในด้านการบริหารสถานศึกษาด้วย
จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2563 ประเทศเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน ภาคการศึกษา ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบ ที่จะต้องประสบปัญหาขาดรายได้ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งภาระในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย จึงได้มอบให้ สช.รวบรวมประเด็นปัญหาจากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องทั้ง 77 จังหวัด ส่งให้กับกระทรวงมหาดไทย พร้อมเหตุผลประกอบการพิจารณานำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่นโยบายช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภท ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีอย่างเท่าเทียม
สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมทั้งได้ติดตามสภาพปัญหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญและไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่งผลให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 โดยกำหนด “ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ.2563 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่น และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ” เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่
“ดังนั้น โรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภท จึงได้รับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับการเก็บภาษีประจำปี พ.ศ.2563 ส่วนการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย นำเสนอต่อไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โรงเรียนเอกชนนอกระบบอย่างเสมอภาคและยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ จากการสำรวจข้อมูลความต้องการ ยังพบว่ามีผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งนอกเหนือจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการยินดีน้อมรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาแนวทางการดำเนินงานและบริหารจัดการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
ขอแสดงความขอบคุณสมาชิกผู้แทนราษฎรผู้ตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นคำถามที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นโอกาสดีที่กระทรวงศึกษาธิการ จะได้ชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแก่โรงเรียนเอกชนทุกประเภทต่อไป


นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
30/7/2563
ใส่ความเห็น