ศธ.เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ “ปลูกน้ำ ปลูกความคิด .. สร้างวิถีชีวิตพอเพียง”

ศธ.เปิดตัว “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ปั้นวิทยาลัยเกษตรฯ ทั่วประเทศ สร้าง “ชลกร” พร้อมจัดกิจกรรม Workshop ดึงเยาวชนสร้างจิตสำนึกในการรักน้ำผ่านสื่อสมัยใหม่ เล็งแก้จนอย่างยั่งยืน

(13 กรกฎาคม 2563) ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ “ปลูกน้ำ ปลูกความคิด .. สร้างวิถีชีวิตพอเพียง” โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โถงชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาตลอด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยชุมชน เพื่อให้เกิดประโชน์สูงสุดและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก คือ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเองก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะเดียวกันโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ปฏิรูปการศึกษาผ่านกลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 2) ปฏิรูปชุมชน ท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นฐานที่มั่นคง 3) ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เนื่องจากต้องนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มที่ และ 4) ปฏิรูปสังคม โดยการสร้างจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่สัมพันธ์กับชีวิตในทุกมิติ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นโครงการที่ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย เพื่อเป็นทุนแรกเริ่มในการตั้งกองทุน จำนวน 100 ล้านบาท ในการนำไปบริหารโครงการโดยรวม และสร้างโมเดลต้นแบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝนบนพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิน ช่วยสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตร รวมทั้งคนในชุมชน

สำหรับหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ คือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย จะสนับสนุนด้านเงินทุนเริ่มในการจัดตั้ง 100 ล้านบาท ส่วนภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้องค์ความรู้ และจะใช้กลไของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 176 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ และจะมีหลักสูตรสร้าง “ชลกร” คือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อเองได้

นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรม Workshop โดยคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรฯ นำเสนอแนวความคิดเรื่อง “น้ำของเรา” โดยมีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ จนถึงขั้นตอนผลิตชิ้นงานโฆษณาออกมา เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้ถึงความสำคัญ และคุณค่าของน้ำ

เมื่อมีน้ำ ก็มีชีวิต คือแนวคิดหลักของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สร้างการเรียนรู้ ในการ มี-ใช้-จัดสรร น้ำ ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพตามศาสตร์พระราชา ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ของน้ำให้กับชุมชนนอกเขตชลประทาน เพื่อใช้ในการทำการเกษตรบริโภคและอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านชลกรซึ่งเป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรฯ ที่ได้รับการฝึกทักษะให้เชี่ยวชาญด้านการบริการจัดการน้ำในชุมชน ส่งต่อความรู้ไปยังผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป ให้สามารถดูแลบริหารจัดการน้ำชุมชนตัวยตนเอง สร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรฯ จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลกรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต โดยจะเป็นฐานปฏิบัติการที่สำคัญในการเดินหน้าโครงการนี้

ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มนำร่อง 5 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ซึ่งทุกวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งในส่วนของครูและนักศึกษาที่จะเป็นแกนนำในการเร่งดำเนินโครงการสร้างโมเดลต้นแบบบนพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรฯ ก่อนจะขยายผลไปในชุมชนโดยรอบ

ตลอดจนนำหลักการทางวิชาการมาใช้ควบคู่กันไป โดยจะมีการจัดทำหลักสูตร “ชลกร” เพื่อยกระดับและต่อยอดองค์ความรู้การจัดการระบบน้ำ เกษตรชลประทาน เพื่อให้เข้าใจในศาสตร์พระราชาในมิติของน้ำเพื่อการเกษตร การบริโภคสำหรับชุมชน ส่งเสริมเกษตรรมีน้ำทำกิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ปารัชญ์ ไชยเวช/ สรุป
กิตติกร แซ่หมู่/ ถ่ายภาพ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: