(26 มิถุนายน 2563) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่สำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่-น่าน เพื่อพบปะให้กำลังใจครูและบุคลากร ปฐมนิเทศนักศึกษา กศน. เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 พร้อมทั้งปลูกกล้าต้นสักทอง นำร่องโครงการลูกเสือปลูกสักทองให้เมืองแพร่ 1 หมื่นต้น
รมช.ศธ. กล่าวว่า สำนักงาน กศน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกทางการศึกษาในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก จึงได้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษา กศน.สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทุกที่ และทุกเวลา
ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกช่วงวัย โดยจัดการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อีกยังได้ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีรู้ โดยวางแผนและเตรียมความพร้อมในการออกรูปแบบการจัดการเรียนให้สอดคล้องกับการให้บริการบนพื้นฐานของความปลอดภัยภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามความเหมาะสมและความพร้อมของบริบทพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้การเปิดเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยสูงสุดต่อผู้เรียน และครูผู้สอน
ทั้งนี้ สำนักงาน กศน.ได้จัดรูปแบบการเรียนรู้ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ คือ
- On-air การเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ดิจิทัล ช่อง 52 และโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV)
- Online การเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต แอพพลิเคชั่น และการเรียนทางไกล
- On-Site การเรียนรู้โดยการพบกลุ่มที่สถานศึกษา หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขและมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด
โอกาสนี้ รมช.ศธ.ได้ปลูกกล้าต้นสักทอง เพื่อเป็นการนำร่องโครงการ “ลูกเสือปลูกสักทองให้เมืองแพร่” เนื่องจากจังหวัดแพร่ มีชื่อเสียงด้านต้นสักเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งป่าไม้ที่มีต้นสักนั้น ทำให้เกิดความสมดุลและสิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ
แต่ด้วยปัจจุบันแม้มีการอนุรักษ์ต้นสัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกทดแทน บำรุงรักษา แต่จำนวนต้นสักได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ศธ.จึงได้ร่วมมือกับจังหวัดแพร่ และมูลนิธิส่งเสริมการลูกเสือแห่งประเทศไทย เพราะเล็งเห็นว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และต้นสักที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดแพร่ รวมทั้งก่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชนสังคมอย่างยั่งยืน ได้มีนโยบายให้มีกิจกรรมปลูกต้นสักทอง จำนวน 1 หมื่นต้น โดยมีลูกเสือมัคคุเทศก์ ลูกเสือ-ยุวกาชาด จิตอาสาจังหวัดแพร่ ร่วมกันปลูกในพื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก แหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะทั่วพื้นที่จังหวัดแพร่ต่อไป
“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวในการดำรงชีวิต และด้วยวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปของประชาชน รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีความห่วงใยในความปลอดภัยและความต่อเนื่องในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก จึงได้มีนโยบายให้ส่วนราชการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหามาตรการในการจัดการศึกษาที่เหมาะสม ปลอดภัย ให้ความรู้แก่เยาวชนและกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยต่อเนื่องอย่างดีเยี่ยมในปัจจุบัน และยั่งยืนในอนาคต”











อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ
ใส่ความเห็น