สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติหลักร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) และวันหยุดราชการชดเชย 2 วัน ในวันที่ 6 และ 7 กรกฎาคม 2563
แกไขเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
ซึ่งเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาจากเดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี
ทั้งนี้ การกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กดังกล่าว สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)
สาระสำคัญ
- กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
- กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังนี้
– ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
– ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด
– ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้
– ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
– ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
ประกาศวันหยุดราชการชดเชย
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศวันหยุดราชการ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวันที่ 6 และ 7 กรกฎาคม 2563
โดยในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563 หยุดราชการเนื่องในวันเข้าพรรษา และวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563 หยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา
โดยจะเลื่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563
ใส่ความเห็น