(22 มิถุนายน 2563) นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดภาคเรียน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)”

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา กล่าวว่า สถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการได้มีแคมเปญช่วงเปิดเรียนปีนี้ “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)” โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้การเรียนของนักเรียน ได้รับทั้งความรู้ และความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หลักการสำคัญ คือ การเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม – 14 พฤศจิกายน 2563 และภาคเรียนที่ 2/2563 เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 ซึ่งมีเวลาเรียน 180 วัน แต่ก็จะมีการชดเชยให้ครบ 200 วัน ด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่โรงเรียนมีอิสระกำหนดได้เอง เช่น เรียนวันเสาร์อาทิตย์ เรียนตอนเย็น เรียนออนไลน์ ฯลฯ

มาตรการในการเปิดเรียน สิ่งสำคัญที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ออกคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแบ่งเป็น 6 มิติด้วยกัน

โดยมิติที่ 1 ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ มีจำนวน 20 ข้อ ในมิตินี้สถานศึกษาทุกแห่งต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน 20 ข้อ ตามมาตรการที่กำหนดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับคู่มือนี้ไปเตรียมรับการประเมินแล้ว

ส่วนมิติที่เหลือ 24 ข้อ ก็จะเป็นมิติในการเรียนรู้ การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพและการคุ้มครอง นโยบาย และมิติการบริหารการเงิน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการในการเปิดภาคเรียน โดยที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องผ่านการประเมินนี้ก่อน จึงสามารถเปิดเรียนได้ ซึ่งขณะนี้สถานศึกษากว่าร้อยละ 90 มีความพร้อมผ่านการประเมินแล้ว

สำหรับแนวปฏิบัติของสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน จะต้องมีการคัดกรองสุขภาพ ซึ่งโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่จุดรับ-ส่งนักเรียน เพื่อจะได้ดูว่านักเรียนมีอาการป่วยหรือไม่ อีกทั้งต้องให้ครูและนักเรียนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดสถานที่ล้างมือหรือแอลกอฮอล์เจล ลดการแออัด เว้นระยะห่างในห้องเรียน และทำความสะอาดสถานที่
ทั้งนี้ สถานศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ จะต้องมีการปรับปรุงห้องเรียน ด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียน ให้เว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และต้องปรับปรุงพื้นที่อื่น ๆ ในโรงเรียน อาทิ โรงอาหารที่ต้องเว้นระยะห่างบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และต้องมีการทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสุขาและจุดสัมผัสต่าง ๆ
ที่สำคัญ ต้องงดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัดอีกด้วย

เปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 สถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ โดยไม่ต้องสลับวันมาเรียน มีจำนวนกว่า 31,000 โรงเรียน
ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติ หรือให้นักเรียนทุกคนมาเรียนพร้อมกันได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 โรงเรียน ก็ต้องสลับกันมาเรียน

ซึ่ง ศธ.ได้วางรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับ 4,500 โรงเรียนดังกล่าว ทั้งเรียนออนแอร์และออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งแต่ละสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมกับบริบท อาทิ การสลับวัน/เวลาเรียน เช่น สลับวันคี่คู่ สลับเช้าบ่าย สลับวันเว้นวัน หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ (เรียน 5 วัน หยุด 9 วัน) ฯลฯ

นอกเหนือจากการดูแลภายในโรงเรียนแล้ว ศธ.ยังดูแลการเดินทางมาโรงเรียนด้วย สำหรับรถโรงเรียนที่ ศธ.ดูแล หรือที่โรงเรียนเป็นเจ้าของ ต้องนั่งเว้นระยะห่าง และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สำหรับการนั่งเว้นระยะห่างในรถรับส่ง จากเดิมอาจจะใช้รถคันเดียว แต่เมื่อเว้นระยะห่าง อาจจะเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม กรณีนี้ ศธ.ก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ทางโรงเรียนจัดหารถรับส่งนักเรียนเพิ่มเติมแล้ว แต่หากสลับวันมาเรียน โดยใช้รถเท่าเดิม ก็อาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมในส่วนนี้

ทางด้านเด็กเล็ก หลายฝ่ายมีความกังวลว่าดูแลยาก จึงต้องฝากให้คุณครู และผู้ช่วยครูสอนเด็กปฐมวัย ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับการนอนของเด็กเล็กให้เว้นระยะห่างการนอน 1.5 เมตร และให้หันเท้าชนกัน เพื่อให้ศีรษะห่างกัน โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในการนอน

ส่วนการรับประทานอาหารกลางวัน ให้ผลัดกันทานอาหาร อาจจะแบ่งเป็น 3-4 ผลัด ๆ ละ 30 นาที ก็ได้

ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองเป็นห่วงและสอบถามมาก คือ เรื่องการสอบของทุกระดับ ศธ.จะประกาศภายในสองสัปดาห์นี้ว่าจะต้องสอบหรือไม่ ยกเว้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะต้องสอบแน่นอน ส่วนระดับชั้นอื่น ๆ ถ้าประกาศแล้วว่ามีการสอบ ศธ.ก็จะปรับตัวชี้วัดให้เข้ากับเกณฑ์ที่สามารถสอนได้ในปีการศึกษานี้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้นักเรียนสามารถได้รับการวัดและประเมินผลการเรียนได้อย่างยุติธรรมในปีโควิด

สำหรับกรณีที่เปิดเทอมแล้ว หากพบนักเรียนหรือครูที่ต้องสงสัย หรือมีเกณฑ์ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงเรียน ศธ.ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยต้องคัดแยกผู้มีอาการ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยทันที
ในระหว่างรอผลตรวจ ยังมีการเรียนการสอนปกติ กรณีตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ก็สามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 นักเรียนและผู้ใกล้ชิดต้องถูกกักตัว 14 วัน และโรงเรียนต้องปิด 3 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ หากโรงเรียนที่มีความพร้อมและเด็กโต อาจจะต้องใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” แต่หากเด็กเล็ก โรงเรียนจะต้องจดข้อมูลบันทึกเอาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานการตรวจสอบย้อนหลัง หากมีการพบผู้ติดเชื้อ

กรณีโรงเรียนที่อยู่ชายขอบ ที่มีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามาเรียนไป-กลับทุกวัน ศธ.จะยังไม่อนุญาตให้ข้ามมาเรียน จนกว่าจะมีประกาศผ่อนปรนจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือหากจะเข้ามา ก็ต้องกักตัวใน State Quarantine 14 วัน ก่อนเรียน
แต่เพื่อให้การเรียนการสอนเต็มรูปแบบ ศธ.ได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไว้แล้ว โดยอาจให้ครูส่งและเก็บใบงานทุกวัน และใช้การเรียนการสอนผ่านทาง DLTV เช่นเดิม

“กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเช่นนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครู บุคลากรทางการศึกษา ที่ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เป็น Stakeholders ในการจัดการศึกษา ที่เข้ามาประชุมร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงาน และศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าว
สรุป : อานนท์ วิชานนท์, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ไม่เห็นด้วยกับ การเรียน วันเว้นวันอาทิตเว้นอาทิต เลยคะ พยายามอนากให้ลูกเรียน รร ดีๆๆๆซึ่ง รร เหล่านี้ ต้องเป็น รร ขนาดใหญ่ จะมาจัด ให้เด็กมาเรียน ทุกวัน ห้องละ20 คง เป็นความฝัน ทำให้เด็กเสียโอกาสด้านการเรียนแน่นอน เหมือน รรเอกชน ดังๆๆค่าเทอม จ่ายเต็ม แต่เด็กได้เรียนวันเว้นวัน แล้วเด็กจะไปอยู่ใหน พ่อแม่ ต้องพาไปที่ ทำงาน เด็ก เล่นแต่โทรศัพ เกม เรื่องเรียน จำไม่ได้
ให้เด็ก ลดความแออัด ใน รร แต่ลองไปดู สังคมข้างนอก ผู้ใหญ่ ยัง ไม่มีsocial.distanc เลย แล้วทำไหมต้อง มาจำกัดในเด็ก ถ้า ไม่รับชาวต่างชาติมา ไทยก็สามารถใช้ชีวิต ได้ปกติ
นโยบายส่วนทางกันทาง ด้านหนึ่งกระตุ้นการท่องเที่ยว ให้คนออกไปเที่ยว สนับสนุนให้งบ แต่ พอทางการ ศึกษามาจำกัด ความคิด ห่วยมาก
ถูกใจถูกใจ