นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมการสงวนอัตราไว้สำหรับผู้สำเร็จการศึกษา ตามโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุมสะอาด พิมพ์สวัสดิ์ ชั้น 9 อาคารรัชมังคลาภิเษก
เห็นชอบหลักการสำคัญโครงการ 3 ข้อ
“คัดเลือก-จัดสรรทุน-สงวนอัตราเข้ารับราชการ”
ที่ประชุมเห็นชอบ ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่อนุมัติในหลักการดำเนินโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ 3 ประการ ดังนี้
- การคัดเลือกนักศึกษา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ที่ผ่านการคัดเลือก เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของรัฐ 9 แห่ง ปีละ 44 คน โดยจัดสรรจำนวนนักศึกษาออกเป็นรายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี 12 คน นราธิวาส 13 คน ยะลา 8 คน สตูล 7 คน และสงขลา 4 คน
- การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา กระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อมอบเงินเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาตามโครงการฯ ปีละ 44 ทุน แบ่งเป็น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 27 ทุน ๆ ละ 40,000 บาท สาขาวิชาสังคมศาสตร์ 17 ทุน ๆ ละ 30,000 บาท ซึ่งจะต้องมีนักศึกษาที่เข้าศึกษาในวิชาชีพครูจำนวนร้อยละ 10 ของนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในแต่ละปี โดยพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ปัจจุบัน (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และอำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา)
- การสงวนอัตราเข้ารับราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ให้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการพิจารณากำหนดแนวทางการสงวนอัตราที่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของหน่วยงานกับสาขาที่นักศึกษาเรียนจบ เพื่อให้การจัดสรรกำลังคนกับความต้องการของหน่วยงานเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยกระทรวงดังกล่าวสงวนอัตราไว้เพื่อรองรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาตามโครงการปีละ 4 อัตรา โดยผู้ที่จะเข้ารับการสอบคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการ จะต้องมีคุณสมบัติและสาขาวิชาตามที่แต่ละกระทรวงกำหนดด้วย
กำหนดสัดส่วนการบรรจุฯ เข้ารับราชการใน ศธ.
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมอนุมัติหลักการกำหนดสัดส่วนให้หน่วยงานสังกัด เพื่อรองรับการบรรจุรับราชการของนักศึกษาตามโครงการ 4 อัตรา/ปี ได้แก่
- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1 อัตรา/ปี
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 อัตรา/ปี
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 1 อัตรา/ปี
(สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ไม่มีหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงไม่สามารถกำหนดสัดส่วนให้ได้)
ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2562 มีนักศึกษาที่จบการศึกษาตามโครงการจำนวน 16 คน ซึ่งจะต้องมาสอบแข่งขันคัดเลือกกันเองในการเข้ารับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้



อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
กิตติกร แซ่หมู่ / ภาพ
เอาเปรียบคนอื่นเอามากๆเลย น่าเกลียดที่สุด
ถูกใจถูกใจ
คนไทยเหมือนกันต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน นโยบายนี้กำลังแบ่งฝักฝ่ายแบ่งศาสนานะคะ
ถูกใจถูกใจ
ความไม่เป็นธรรมเริ่มแล้ว การปกครอง ไม่เป็นหนึ่งเดี่ยวยากต่อการบริหาร ทำให้ภูมิภาคอ่อนแอ เราควรรีบแก้ปัญหาและหยุดอย่างเฉียบพลันไม่ปล่อยให้ปัญหาค้างและจะเสียงบประมาณมากเท่าไรก็ต้องทำแสดงถึงความสามารถของกระทรวงมหาดไทย และมุกหน่วยงานรัฐ
ถูกใจถูกใจ