(6 มี.ค.63) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายพะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. นายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษา สช. มอบนโยบายการศึกษา ที่โรงเรียนธิดาแม่พระ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนางแจ่มจิตต์ พูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.ณันศภรณ์ นิลอรุณ รอง ศธจ.สุราษฎร์ธานี รักษาการ ศธจ.สุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ
นางแจ่มจิตต์ พูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงการจัดการศึกษาว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสถานศึกษาทุกสังกัดรวม 755 แห่ง มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างสังคมที่เป็นสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสที่ไม่ได้เรียนต่อ มีการสำรวจผ่านสำนักงาน กศน.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2562 พบว่ามีผู้ที่ไม่ได้เรียนต่อมากกว่า 5,000 คน และสามารถดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานศึกษาเอกชนต้องเตรียมรับมือให้เหมาะสม เช่น การจัดการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ ศธ.กำลังเร่งพัฒนาระบบ Platform ในการสนับสนุนข้อมูลและการเรียนออนไลน์ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเชื่อมโยงกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันได้ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จัดการศึกษาผ่านเครือข่าย e-DLTV เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ ซึ่งครูสามารถเข้าไปศึกษาล่วงหน้าก่อนนำมาสอนนักเรียนได้ เชื่อมั่นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก หากโรงเรียนใดมีความพร้อมในการสอนออนไลน์ขอให้ใช้กลไลของจังหวัดแบ่งปันข้อมูลกับโรงเรียนที่ขาดแคลนด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ ทั้งในส่วนของเยาวชนลูกเสือและครูลูกเสือเอกชน โดยมีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดำเนินการนำร่องจำนวน 8 จังหวัด ซึ่งลูกเสือที่ผ่านการอบรมจะมีโอกาสได้รับคัดเลือกไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ได้ เพื่อปลูกฝังให้ลูกเสือเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในคุณค่าของท้องถิ่นตนเอง มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว ขณะที่แต่ละจังหวัดจะต้องเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วย เพื่อเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดตนเอง
รมช.ศึกษาธิการ ยังได้แสดงความห่วงใยกรณีการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นใหม่ โดยขอให้ทุกฝ่ายพูดคุยและพิจารณาความเหมาะสมร่วมกัน ยึดหลักคุณธรรมในการทำงาน หากมีอุปสรรคใดให้ตกลงทำความเข้าใจกันด้วยเหตุผล อย่าให้นักเรียนกลายเป็นตัวประกันในการจัดการศึกษา เชื่อมั่นว่าการศึกษาเอกชนจะเป็นทางเลือกที่มีคุณภาพ ขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศร่วมกันได้ต่อไป














ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / บรรณาธิการข่าว