‘คุณหญิงกัลยา’ เปิดเวิร์คช็อปจัดทัพอาชีวะสู่ Digital Smart Farming แนะใช้ STI-สติ สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกรไทย

(28 ก.พ. 63) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด​และบรรยายพิเศษ​ ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “จัดทัพสู่ Digital Smart Farming” ณ ​โรงแรมเดอะบลูม บาย ทีวีพูล เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ดร.คุณหญิง​กัลยา​ โสภณ​พณิช กล่าวว่า ​การจัดประชุมสัมมนา “จัดทัพสู่ Digital Smart Farming” เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เพราะกองทัพจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ทำหน้าที่แม่ทัพในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง รวมถึงการเจริญเติบโตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เกิดผลกระทบต่อคนทุกอาชีพทุกระดับ การสัมมนาวันนี้จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) โดยทุกคนเป็นคนสำคัญที่จะขับเคลื่อนกองทัพของ วษท. ทั่วประเทศเข้าสู่ Digital Smart Farming

ขณะเดียวกัน ต้องมีความตื่นตัวในการปรับทุกอย่าง ทั้งการเพิ่มทักษะเพิ่มความรู้ความสามารถให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือแตกต่างไปจากเดิม เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology Innovation : STI) มาเสริมการเรียนการสอนการทำงานของเกษตรกรทั้งภายในและภายนอก วษท. ให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ STI ยังอ่านเป็นภาษาไทยว่า “สติ” เมื่อมีสติก็จะเกิดปัญญา จึงขอให้ใช้สติสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกรไทยไปสู่ Digital Smart Farming

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก จากข้อนี้ควรจะเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนจะมีจุดอ่อนหลายอย่าง เช่น เยาวชนไม่อยากมาเรียนเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรไม่มีคุณภาพ และไม่เพิ่มมูลค่าชีวิต เกษตรกรมีรายได้น้อย เป็นต้น จึงน่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะสามารถเป็น 1 ใน 6 ประเทศดังกล่าวนี้ได้อีกนานเท่าใร

“เกษตรกร จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะพาประเทศรอดพ้นวิกฤตได้ ดังนั้นสถาบันที่ผลิตเด็กออกไปเป็นเกษตรกร เป็นผู้ประกอบการหรือประกอบอาชีพส่วนตัว ก็ตามต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะเพื่อทำให้วงการเกษตรของไทยก้าวหน้า โดยจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝีมือแม่ทัพนายกองของสถาบันต่าง ๆ ว่าจะนำพากองทัพไปในทิศทางใด”

นอกจากความตั้งใจอยากให้เกษตรกรผลิตอาหารที่มีคุณค่ามีคุณภาพ ลดต้นทุน และได้ราคาดีแข่งขันชนะประเทศอื่นได้ด้วยSTI แล้ว ยังเสนอให้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานด้วย ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สมาชิกวิสาหกิจ ธนาคาร หรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเกษตรมาร่วมกันทำงาน เชื่อมั่นว่าจะทำให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชาติชาย ​เกตุพรหม ที่ปรึกษา​ด้านมาตรฐาน​อาชีวศึกษา​เกษตร​กรรมและประมง กล่าวถึงการประชุม​สัมมนาครั้งนี้ว่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปสู่เป้าหมายร่วมกันกับ Stakeholders และเพี่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Digital SmartFarming โดยมีผู้บริหารจากสถาบัน​การอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคกลาง/ภาคใต้, ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง​ รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ​ ครูหัวหน้างานฟาร์ม ประธานกรรมการวิทยาลัย ตัวแทนศิษย์เก่า ตัวแทนสถานประกอบการ และSmart Farming กว่า 400 คน​เข้าร่วมประชุม

ในส่วน​ของ​กิจกรรมการจัดประชุมสัมมนา ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ​เรื่อง​การปฏิรูปอาชีวเกษตรสู่ Digital Smart Farming และเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจไอที ​มีการแบ่งกลุ่มย่อยและนำเสนองานกลุ่ม เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / บรรณาธิการ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: