ศธ.แถลงข่าวการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

(20 ก.พ. 63) ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ / นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัด ศธ. พร้อมด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. และนางสาวนงลักษณ์ เรือนทอง ผอ.สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมแถลงข่าวการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคมถึง 3 เมษายน 2563 ณ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “มูลนิธิ สอวน.” เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 โดยมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเป็นสถานที่ในการดำเนินการจัดการแข่งขัน

การจัดการแข่งขันครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้การสนับสนุนจัดโครงการและงบประมาณรองรับ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมระดับสากลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยนักเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และโรงเรียนได้รับการพัฒนาโดยใช้หลักสูตรและมาตรฐานที่นานาชาติให้การยอมรับ

การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งนี้ เป็นการเปิดเวทีให้นักเรียนที่มีความสนใจ มีความรู้ความสามารถวิชาภูมิศาสตร์ ได้มีสนามในการทดสอบความรู้ได้ฝึกประสบการณ์ในการแข่งขันและเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา กล่าวถึงความเป็นมาว่า ภูมิศาสตร์โอลิมปิกของประเทศไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ.2555 จากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับเชิญให้เสด็จเปิดงาน International Geography Conference (IGC 2012) ณ เมืองโคโลญจ์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งในพิธีเปิดมีการมอบรางวัลเหรียญทองการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Geography Olympiad หรือ iG๐) เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย ได้มีพระราชปรารภผ่านมูลนิธิ สอวน. ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะส่งผู้แทนจากประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศบ้าง

มูลนิธิ สอวน. จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ระดมคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และตั้งเป็นคณะทำงาน เพื่อพัฒนาหลักสูตรและแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์โอลิมปิก ประกอบด้วย 1) ภูมิศาสตร์กายภาพ 2) ภูมิศาสตร์มนุษย์ และ 3) ภูมิศาสตร์เทคนิค เพื่อใช้ในการอบรมครูและอบรมนักเรียน และการสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย

การดำเนินงานที่ผ่านมา มูลนิธิ สอวน. และ สพฐ. ได้ร่วมมือกันจัดการอบรมครูและนักเรียนทั่วภูมิภาค โดยใช้แบบเรียนที่จัดทำขึ้น และในปี พ.ศ.2560 มูลนิธิ สอวน. จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกขึ้นทั่วประเทศจำนวน 15 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์โรงเรียน 8 ศูนย์ และศูนย์มหาวิทยาลัย 7 ศูนย์ เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกเยาวชนไทยครอบคลุมทั่วทุกภูมิกาคของประเทศ แต่ละศูนย์จะคัดเลือกนักเรียนจำนวน 6 คน เป็นผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบระดับชาติจะถูกกลั่นกรองและคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2563 ณ เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ต่อไป

นางสาวนงลักษณ์ เรือนทอง กล่าวถึงการจัดการแข่งขันว่าศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันศูนย์ สอวน.วิชาภูมิศาสตร์มีจำนวนทั้งหมด 15 ศูนย์ มีศูนย์โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 5 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคมถึง 3 เมษายน 2563 โดยมีนักเรียนตัวแทนจากทุกศูนย์ทั่วประเทศเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 102 คน อาจารย์ผู้ดูแลจากแต่ละศูนย์จำนวน 32 คน และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ โดยโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ รับผิดชอบดูแลให้ความเสมอภาคแก่ผู้เข้าแข่งขันทุกคน และเป็นผู้แทนจากศูนย์ทุกศูนย์เข้าร่วมการแข่งขัน

ในส่วนของการดำเนินการจัดการแข่งขัน มีการจัดสอบโดยใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ มีการสอบ 3 หัวเรื่อง คือ ภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิค โดยการสอบข้อเขียน 4 ชั่วโมง การสอบ Field Work 6 ชั่วโมง และการสอบ Multimedia Test 1 ชั่วโมง

สำหรับนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์จะได้รับคัดเลือกเข้ารับการอบรมในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศของมูลนิธิ สอวน. ต่อไป

ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / กราฟิก, บรรณาธิการข่าว

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

Website Built with WordPress.com.

Up ↑

%d bloggers like this: