(19 กุมภาพันธ์ 63) นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบฯ จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนเอกชนทีมีความคล่องตัว รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ได้แก่
- ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อความคล่องตัว รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา สำหรับสถานศึกษาเอกชนประเภทโรงเรียนในระบบตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนในกรณีการพานักเรียน นักศึกษาไปนอกสถานศึกษาไม่พักแรมให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต หากพักแรมให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเป็นผู้พิจารณาอนุญาตพาไผนอกราชอาณาจักร
- ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียน ในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนคำหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พ..ศ. …. เนื่องจากระเบียบเดิมไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเรียนครอบคลุมหนังสือที่ใช้สำหรับนักเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนพิการมากขึ้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนแต่งตั้ง โดยวิธีการขอรับเงินอุดหนุน วิธีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน และแนวทางการดำเนินงานให้เงินอุดหนุนให้เป็นไปตามที่สำนักงานหรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด แล้วแต่กรณี
- ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จึงเห็นสมควรออกระเบียบฯ ซึ่งมีบริบทสอดคล้องกับการจัดการศึกษาเอกชนไว้เป็นการเฉพาะ
มีสาระสำคัญประกอบด้วย
1) รอบปีการศึกษาหนึ่ง วันเริ่มตันปีการศึกษาของสถานศึกษา คือ วันที่ 16 พฤษภาคมและวันสิ้นปีการศึกษา คือ วันที่ 5 พฤษภาคม ของปีถัดไป
1.1 ภาคเรียนที่หนึ่ง เปิดภาคเรียนวันที่ 16 พฤษภาคม ปิดภาคเรียนวันที่ 11 ตุลาคม
1.2 ภาคเรียนที่สอง เปิดภาคเรียนวันที่ 1 พฤศจิกายน ปิดภาคเรียนวันที่ 1 เมษายน
สถานศึกษาใดประสงค์จะเปิดและปิดภาคเรียนแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ให้ผู้อนุญาตเป็นผู้กำหนดตามที่เห็นสมควร
2) ผู้มีอำนาจในการสั่งปิดสถานศึกษาเป็นกรณีพิเศษ (กรณีจำเป็นต้องใช้สถานศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมอื่นใด หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจเปิดเรียนได้ตามปกติ)
2.1 หัวหน้าสถานศึกษา สั่งปิดได้คราวละไม่เกิน 7 วัน
2.2 ผู้อนุญาต สั่งปิดได้คราวละไม่เกิน 15 วัน
2.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นเมื่อสั่งปิดสถานศึกษาแล้ว สถานศึกษาต้องทำการสอนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ปิด
3) การปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษ (เหตุที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติสาธารณะ) ให้สั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราว เพื่อระงับเหตุหรือเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้น โดยให้ปฏิบัติ ดังนี้
3.1 หัวหน้าสถานศึกษา สั่งปิดได้คราวละไม่เกิน 15 วัน
3.2 ผู้อนุญาต สั่งปิดได้คราวละไม่เกิน 30 วัน
3.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นเมื่อสั่งปิดสถานศึกษาแล้ว สถานศึกษาต้องทำการสอนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ปิด
4) เมื่อได้สั่งปิดสถานศึกษาไปแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่สงบหรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดต่อไปอีก ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี







อิชยา กัปปา/สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง/ภาพ
ใส่ความเห็น