สสวท. ผนึก ม.วลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรม GLOBE Train-The-Trainer เตรียมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการตรวจวัดและการวิจัยวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากล
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยฝ่ายโลกศึกษาเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (GLOBE) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดการฝึกอบรมหลักการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ GLOBE (Global Learning and Observation to Benefit the Environment) ให้กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏและเครือข่ายอุดมศึกษา ระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 1 ก.พ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับประชาคมไทย ผ่านกระบวนการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล อันจะนำไปสู่ความเข้าใจ ปัญหาและการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างแท้จริง และยั่งยืน
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายโลกศึกษาเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (GLOBE) กล่าวว่า โครงการ GLOBE เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ที่มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้นักเรียนทั่วโลกทำงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science: ESS) เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดย สสวท. และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซ่า (NASA) เมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 122 ประเทศ มีโรงเรียนเข้าร่วม 36,890 แห่ง ครู 39,143 คน และมีการตรวจวัดข้อมูลสิ่งแวดล้อมแล้วกว่า 177 ล้านข้อมูล
โครงการ GLOBE เป็นโครงการที่เน้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการสังเกตธรรมชาติรอบตัว (Observation Science) ใช้หลักการให้นักเรียนเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบุแนวโน้มรูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูล เข้าใจแบบจำลอง และทำนายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกได้ โดยแบ่งการตรวจวัดออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ การตรวจวัด สิ่งปกคลุมดิน (biosphere) น้ำ (hydrosphere) อากาศ (atmosphere) และ ดิน (pedosphere) ซึ่งนักเรียนจะนำผลการวัดที่เป็นมาตรฐาน บันทึกในฐานข้อมูลบนคลาวด์ขององค์การ NASA และนำไปใช้ทำโครงงานวิจัยวิทยาศาสตร์ต่อไป
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ประเทศไทยมีผลงานที่โดดเด่นในระดับแนวหน้าของโลก โดย สสวท. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ดำเนินงานใน 3 ด้านได้แก่
- การผลิตสื่อและตำราเรียนด้านวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science : ESS) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โดยการผลิตตำราเรียนและคู่มือครูทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มากกว่า 20 เล่ม ในจำนวนนี้มีหนังสือเด่น ได้แก่
1.1. หนังสือเรียนพร้อมคู่มือครู Earth System Science : ESS (มืตำราแสดง)
1.2 หนังสือ Climate Change ฉบับไทยและอังกฤษ โดยมีนักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA (ดร. Dev) ช่วยบรรณาธิการด้วย
1.3 หนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
1.4 หนังสือจอมปราชญ์แห่งดิน โดยได้รับความอนุเคราะห์จัดทำขึ้นโดย อ.พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี (สสท.) - การอบรมครูวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการนำไปจัดกิจกรรมในโรงเรียน โดยตลอดโครงการมีครูร่วม มากกว่า 1,500 คน จากโรงเรียน 820 กว่าแห่ง และมีนักเรียนเข้าร่วมถึง 30,000 คน
- การส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี จะจัด 2 กิจกรรมหลัก คือ
(1.) Student Research Competition (SRC) เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาเข้าร่วม ในจำนวนนี้ นักเรียนกว่า 30 คน ได้รับโอกาสให้ไปร่วมนำเสนอผลงานในต่างประเทศ ซึ่งบริเวณด้านนอกเป็นนักเรียนของไทยที่ได้แลกเปลี่ยนกับนักเรียนจาก ญี่ปุ่น เนปาล ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ด้วย และ
(2.) เวที Thailand Junior Water Prize (TJWP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสวท. กับประเทศสวีเดน (Stockholm International Water Institute : SIWI) โดยไทยส่งนักเรียน 2 คนไปร่วมประกวดกับ 30 กว่าประเทศ เข้าร่วมงาน World Water Week และ Stockholm Water Prize โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลพระราชทานจากเจ้าหญิงแห่งสวีเดน
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง สสวท. และเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันแตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพของภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นรอบด้าน ผ่านกระบวนการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวและกระบวนการศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล








ภาพ/ข่าว : สสวท.
ใส่ความเห็น