(31 มกราคม 2563) นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) โดยมีนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ผู้ตรวจราชการ ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากร สำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัด เข้าร่วมกว่า 400 คน ณ สนามหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และร่วมกันเดินรณรงค์โครงการดังกล่าวบริเวณพื้นที่โดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ
ปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ประจำปี 2563 สิ่งที่อยากฝากทุกคน วันนี้ประเทศชาติของเราโดยเฉพาะรัฐบาลได้กำหนดให้ทุกกระทรวง มีหน้าที่รณรงค์ในการลด และคัดแยกขยะมูลฝอย ไม่ใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถุงพลาสติกหรือถุงหูหิ้ว รวมทั้งโฟม กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชน จึงอยากให้ผู้บริหารทำเป็นแบบอย่าง ให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้เข้าใจว่าประเทศไทยรวมถึงทุกประเทศร่วมกันรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน จึงขอประกาศนโยบายการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรทุกคน มีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ตามมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่กำหนด โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงาน และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารทุกระดับ ในการสนับสนุน กำกับ ติดตาม ให้เป็นไปตามมาตรการต่อไป”
นางทัศนีย์ ไวปัญญา ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. กล่าวเพิ่มเติมว่า สป.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ในการร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน การจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย โดยมีเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานลดปริมาณขยะมูลฝอย ลดการทิ้งถุงพลาสติกหูหิ้ว ลดการทิ้งแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงงดใช้โฟมบรรจุอาหารอีกด้วย
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ เพื่อให้บุคลากรทุกหน่วยงานในสังกัด สป. มีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรม เกิดความตระหนักในการร่วมลดและคัดแยกขยะมูลฝอย รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดโครงการฯ มีวิทยากรจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) มาให้ความรู้ ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล โดยนายบัญชาการ วินัยพานิช นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) บรรยายในหัวข้อ โดยสรุป ดังนี้
- สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะในปัจจุบันปัจจุบัน ทุกวันนี้คนไทยกว่า 70 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับ มีไม่ถึง 70 % ของขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณมูลฝอยตกค้าง ตามสถานที่ต่าง ๆ หรือมีการนำไปกำจัดโดยวิธีกองบนพื้นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ 1) อากาศเสีย เกิดจากการเผาขยะมูลฝอยกลางแจ้งทำให้เกิดควันและสารมลพิษทางอากาศ 2) น้ำเสีย เกิดจากกองขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นเมื่อฝนตกจะเกิดน้ำเสียซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษทางน้ำ 3) แหล่งพาหะนำโรค จากขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคติดต่อทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 4) เหตุรำคาญและความไม่น่าดู จากการเก็บขยะมูลฝอยไม่หมดทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน
- การจัดการขยะมูลฝอย โดยใช้หลัก 3 Rs
Reduce : การลดการบริโภคและหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
Reuse : การนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนถุงพลาสติก
Recycle : การแยกขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ให้ง่ายต่อการจัดเก็บและส่งแปรรูป เช่น บรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้ว กระป๋องเครื่องดื่มต่าง ๆ
- การกรอกข้อมูลในระบบ e-report (มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ) แผนการจัดการขยะเป็นมาตรการจัดการปัญหาปลายทาง ความจริงจำเป็นต้องลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ตามหลักการสากล ด้วยหลักการ 3 Rs ลดการใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ โดยต้องลดปริมาณขยะที่ก่อให้เกิดขยะให้ได้มากที่สุด หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สาระน่ารู้เกี่ยวกับขยะมูลฝอย
ระยะเวลาที่ขยะแต่ละชนิดย่อยสลายตามธรรมชาติ
ชนิดของขยะ ระยะเวลาย่อยสลาย
เศษกระดาษ 2-5 เดือน
เปลือกส้ม 6 เดือน
ถ้วยกระดาษเคลือบ 5 ปี
ก้นกรองบุหรี่ 12 ปี
รองเท้าหนัง 25-40 ปี
กระป๋องอะลูมีเนียม 80-100 ปี
ถุงพลาสติก 450 ปี
โฟม ไม่ย่อยสลายควรหลีกเลี่ยงการใช้
การคัดแยกขยะ

ข้อมูลการคัดแยกขยะเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ www.pcd.go.th






















อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
ปกรณ์ เรืองยิ่ง, อธิชนม สลางสิงห์ / ถ่ายภาพ
อธิชนม สลางสิงห์ / วิดีโอ
ใส่ความเห็น