(30 ม.ค. 63) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานฉลองสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า OPEN HOUSE วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ณ โดมตุ้มโฮม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครูและนักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด เข้าร่วมงาน
สุดภูมิใจ วษท.ร้อยเอ็ด รางวัลรางวัลพระราชทาน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี
ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด กล่าวรายงานว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด (วษท.ร้อยเอ็ด) เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. ด้านเกษตรกรรม ช่างอุตสาหกรรม บริหารธุรกิจ และระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช เป็นสถานศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพสู่ความเป็นเลิศ เป็นผู้นำในการให้บริการวิชาการ วิชาชีพด้านอาชีวศึกษาและเทคโนโลยีที่หลากหลายแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
วษท.ร้อยเอ็ด มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุข โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานศึกษาได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้งในรอบ 10 ปีการศึกษา คือ ปีการศึกษา 2552 ปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2561 สร้างความปลื้มปีติแก่คณะครู นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน ผู้ปครองนักเรียนนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
งานฉลองสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า OPEN HOUSE ของ วษท.ร้อยเอ็ด จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข้อมูลการศึกษาต่อสายอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้ครู นักเรียน และผู้สนใจชมผลงานที่แสดงถึงศักยภาพในการจัดการศึกษาของ วษท.ร้อยเอ็ด และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีของบุคคลภายนอกที่มีต่อการจัดการรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา
คุณหญิง แนะสถานศึกษาอื่นนำ วษท.ร้อยเอ็ด เป็นตัวอย่าง
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวในพิธีเปิดงานว่า รางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ ความก้าวหน้าในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี ยิ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา ซึ่งไม่ง่ายที่สถานศึกษาจะสามารถทำได้อย่างนี้ เนื่องจากเมื่อสถานศึกษาได้รับรางวัลพระราชทานในปีใดแล้ว ต้องเว้นช่วงไปอีก 3 ปี จึงจะสามารถสมัครเข้ารับการประเมินคัดเลือกได้อีกครั้ง และที่สำคัญต้องแข่งขันกับสถานศึกษาอื่นด้วย
จึงขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับความสำเร็จในครั้งนี้ และขอชื่นชมคณะผู้บริหาร คณะครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียนนักศึกษา วษท.ร้อยเอ็ด ตลอดจนผู้กี่ยวข้อง ผู้สนับสนุนทุกคนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพเช่นนี้
ขณะเดียวกัน วษท.ร้อยเอ็ด ก็มีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น โครงการความร่วมมือกับต่างประเทศที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นสากล มีรางวัลต่าง ๆ ที่สถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนนักศึกษาได้รับจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงถือเป็นแบบอย่างของการจัดการศึกษาที่ดี โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท หรือ อศ.กช. ให้แก่เกษตรกรในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรของจังหวัดร้อยเอ็ด ให้มีการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการประกอบอาชีพมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นด้วย นับเป็นการจัดการศึกษาที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทยอย่างแท้จริง
ชวนคนไทยมาเรียนเกษตร เรียนฟรี มีรายได้ มีงานทำ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ศธ.มีความตั้งใจที่จะให้คนรู้ว่า วษท.จำนวน 47 แห่งทั่วประเทศ มีผลงานที่ได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์ เช่น วษท.ร้อยเอ็ด ที่ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้งใน 10 ปี แสดงให้เห็นแล้วว่ามีผลงานดีเด่นแน่นอน ขณะเดียวกันในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ก็จะส่งเสริมให้มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) เข้ามาเสริมในส่วนที่จะเสริมได้ รวมถึงระบบ Didital Smart Farming ตามศักยภาพของแต่ละแห่ง ทั้งด้านการผลิตพืช ผลิตสัตว์ การบริหารฟาร์มขนาดใหญ่ เป็นต้น ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ มีรายได้ มีงานทำมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
นอกจากนี้เรื่องการจัดการศึกษาทวิภาคี ก็มีผลงานที่ดีเด่นมาก หรือโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2527 ก็ประสบผลสำเร็จชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจาก วษท.จะพัฒนานักศึกษาแล้ว ยังสนับสนุนไปถึงเกษตรกรและประชาชนทั่วไปด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนมาเรียนเกษตรให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จให้เห็นแล้วมากมาย เป็นที่ยอมรับว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ทัดเทียมกับอาชีพอื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือเรียนฟรี ระหว่างเรียนมีรายได้ เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ มีทักษะทันสมัยที่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการของแผนกวิชาต่าง ๆ การจัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) นิทรรศการชองนักศึกษาโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล (ARAVA) การนำเสนอผลงานของนักศึกษา อศ.กช. การอบรมหลักสูตรระยะสั้น 108 อาชีพ ตลอดจนนิทรรศการของหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ ที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย














พิธีเปิดโครงการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ณ วษท.ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
ผู้อำนวยการ วษท.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้นทั้งในขนาดกลางและขนาดย่อม โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ที่จบอาชีวศึกษาให้มีองค์ความรู้ด้านธุรกิจ สามารถออกไปเป็นผู้ประกอบการที่ตั้งตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ภาคแรงงานเพียงอย่างเดียว
วษท.ร้อยเอ็ด จึงได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผู้เรียนสาขาวิชาชีพต่าง ๆ โดยการให้องค์ความรู้ด้านธุรกิจแก่นักเรียนนักศึกษา และส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมภายใต้ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา โดยกำหนดให้ชมรมวิชาชีพจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะของชมรมวิชาชีพขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้มีประสบการณ์การทำธุรกิจ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ต่อยอดไปเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต
โครงการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด มีการดำเนินงาน จำนวน 6 ชมรมวิชาชีพ ได้แก่ ศูนย์บ่มเพาะชมรมวิชาชีพพืชศาสตร์ ชมรมวิชาชีพสัตวศาสตร์ ชมรมวิชาชีพประมง ชมรมวิชาชีพอุตสาหกรรมเกษตร ชมรมวิชาชีพช่างอุตสาหกรรม และชมรมวิชาชีพบริหารธุรกิจ รวมทั้งดำเนินงานในรูปสหกรณ์จำลองเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียนและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้สามารถนำความรู้ ทักษะวิชาชีพไปใช้สร้างเสริมประสบการณ์เชิงพาณิชย์ ให้มีความพร้อมที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง หรือพัฒนาต่อยอดธุรกิจเดิมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่ วษท.ร้อยเอ็ด ดำเนินงานในรูปชมรมวิชาชีพและสหกรณ์จำลอง ถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากผู้เรียนที่เรียนต่างสาขาวิชาย่อมมีความสนใจในการประกอบอาชีพไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ วษท.ร้อยเอ็ด มีชมรมวิชาชีพด้านการเกษตรที่มีความแตกต่างจากชมรมวิชาชีพในสาขาวิชาชีพอื่นที่มีจำนวนมาก และเป็นอาชีพที่เป็นรากเหง้าของอาชีพของคนไทย ก็จะช่วยให้ผู้เรียนด้านเกษตรกรรมได้มองเห็นภาพของอาชีพในอนาคตได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนสหกรณ์จำลองจะเป็นตัวช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญจะช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ที่จะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้




ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
สมประสงค์ ชาหารเวียง/ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น