(24 ม.ค.63) ผลการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2563 โดยนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มต้นการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวง เช่น ปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงานระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล จึงมีมติที่สำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้

การแก้ปัญหาเรื่องบุคลากร
“ทำระดับจังหวัด แต่อยู่ในวง สพฐ.เอง”
ที่ผ่านมา อำนาจการบริหารงานบุคคลเป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีปัญหาการร้องเรียนหรือต่อต้านการประท้วงที่ไม่ต้องการผู้อำนวยการโรงเรียนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ ในขณะที่หน่วยงานตันสังกัด เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ กศจ. เป็นต้น
ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบในหลักการว่า ควรให้ต้นสังกัดมีอำนาจในการพิจารณาการบริหารงานบุคคลเอง ไม่ว่าจะเป็น “เลื่อน-ลด-ปลด-ย้าย” เพื่อให้การทำงานของจังหวัดมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สพฐ.หาแนวทางดำเนินการ โดยนำปัญหาที่เคยมีไปพิจารณาด้วย เช่น หากมอบอำนาจไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เช่นเดิม ก็อาจจะเป็นไซโล หรือแท่งซ้อนแท่งอีก อาจจะเป็น 225 แท่ง ย้ายข้ามกันไม่ได้ สพฐ.จะแก้อย่างไร ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรอยู่ที่จังหวัด แต่ไม่เกี่ยวกับ ศธจ. อาจจะเป็นรูปแบบคล้าย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เดิม แต่อยู่ในระดับ “จังหวัด” โดยสำนักงานอาจจะอยู่ที่เขต 1 ทั้ง 77 แห่ง เช่น การย้ายภายในจังหวัด สมมุติมี 6 เขตพื้นที่การศึกษา ก็ต้องไปคุยร่วมกันให้สามารถย้ายข้ามเขตได้ โดยคณะกรรมการพิจารณาจะให้เป็นคณะกรรมการจากเขตพื้นที่การศึกษาเอง แต่หากเป็นการพิจารณาข้ามจังหวัด ให้กลับไปที่กระทรวงพิจารณา” นายวราวิช กล่าว
การปรับปรุงภารกิจการทำงาน (Function)
“สพฐ.-สป.ไปคิดร่วมกันให้ชัดเจน เอางานเป็นหลัก”
ที่ประชุมมอบหมายให้ตั้งผู้แทนจาก สพฐ. และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มาทำงานร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ภารกิจงาน (Function) ให้มีความชัดเจน งานอะไรควรอยู่ที่ ศธจ. หรือเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนงานที่มีสีเทา หรือยังไม่ชัดเจน ให้คณะทำงานวิเคราะห์ร่วมกัน แล้วเสนอความเห็นต่อที่ประชุมนี้พิจารณาในครั้งต่อไป
“เพราะฉะนั้นงานก็จะชัด และเมื่องานชัดแล้ว เราค่อยดูว่าใครจะทำงานนั้น เช่น ถ้างานนั้นควรอยู่ที่ ศธจ.หรือเขตพื้นที่ฯ ก็จะดูว่ามีคนทำไหม ถ้าไม่มีคน ก็ต้องหาคนไปทำงาน ถือเอางานเป็นหลัก ไม่ใช่เอาคนเป็นหลัก” นายวราวิช กล่าว
ทั้งนี้ ให้คณะทำงานเสนอรายละเอียดตามแนวทางดำเนินการ 2 ประเด็นดังกล่าว เสนอให้ที่ประชุมนี้พิจารณาครั้งต่อไป ในวันที่ 31 มกราคมนี้ เวลา 13.30 น.










บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
กิตติกร แซ่หมู่ / ถ่ายภาพ
ใส่ความเห็น